ThaiClinic.com

Logo Thaiclinic.com bannerthaiclinicnewswelcomeclr.gif (15099 bytes)
Main PageWhat's New!!!Medical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiClinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

คนไทยยังรับรู้ถึงสิทธิผู้ป่วยน้อยมาก

            เมื่อไม่นานมานี้ เรือเอกหญิงอาภรณ์ พลเสน มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยผลงานวิจัยเรื่อง "ผู้ป่วยกับการรับรู้และการปฏิบัติตามสิทธิที่ตนได้รับ" โดยได้ศึกษา เฉพาะกรณีผู้ป่วยในโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้ากรมแพทย์ทหารเรือ" พบว่าผู้ป่วยรับรู้เรื่องสิทธิ ในการรับการรักษาพยาบาลน้อยมาก

การวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม จากผู้ป่วยในแผนกอายุรเวชกรรม ศัลยกรรม และสูติ-นารีเวชกรรม จำนวน ๑๕๐ คน โดยกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจนี้ มีทั้งผู้ป่วยชายและหญิง อายุระหว่าง ๒๐ ถึง ๒๕ ปี และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาตั้งแต่ ๑ ถึง ๗ วัน 

สำหรับกลุ่มคำถามที่ใช้ในแบบสอบถามนั้น แบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

  • สิทธิการได้รับบริการเพื่อสุขภาพ

  • สิทธิการได้รับรู้ข้อมูล คำอธิบาย และเลือกรับบริการ

  • สิทธิการปฏิเสธการรักษา

  • และสิทธิการได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ไว้เป็นความลับ

ผลที่ได้จากการสิเคราะห์แบบสอบถามพบว่าในข้อแรกนั้น สิทธิที่ผู้ป่วยมีการรับรู้มากที่สุดคือ 
สิทธิการได้รับบริการเพื่อสุขภาพ
อาทิ จะต้องได้รับการตรวจเยี่ยมจากแพทย์ และพยาบาล ที่เตียงคนไข้อย่างสม่ำเสมอ และการร้องขอความช่วยเหลือในกรณีที่ไม่สบายกายและใจ แต่ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรับรู้ว่าสามารถแสดงความเห็นและโต้แย้งในกรณีที่มีการรักษาพยาบาลผิดพลาด

ในส่วนของสิทธิการได้รับรู้ข้อมูลนั้น ปรากฏว่าผู้ป่วยจะรู้ในแง่ของการสอบถามกฏระเบียบ ของโรงพยาบาล เช่นค่าอาหาร ค่าห้อง การเบิกค่ารักษา แต่เรื่องของการสอบถามคุณสมบัติหรือ รายละเอียดเกี่ยวกับแพทย์ และพยาบาลที่เป็นผู้รักษานั้น มีการรับรู้น้อย

สิทธิในการปฏิเสธการรักษานั้น ผู้ป่วยจะรู้สิทธิที่จะปฏิเสธไม่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลนั้น ๆ และสิทธิในการไม่ยอมรับการรักษาด้วยวิธีการบางอย่าง แต่สิทธิในการที่แพทย์และพยาบาล จะต้องปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างสุภาพนั้น ผู้ป่วยรับรู้ค่อนข้างน้อย

สำหรับสิทธิในการได้รับการปกปิดข้อมูลนั้น ผู้ป่วยจะรับรู้ในส่วนของตรวจร่างกายและ การให้การรักษาพยาบาล ที่ต้องมีการกั้นม่าน หรือปกปิดอวัยวะที่ทำการรักษา แต่สิทธิในการปกปิดข้อมูลอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งการปิดชื่อที่หน้าห้องนั้น ยังไม่ค่อยรับรู้ 

ผลจากการครั้งนี้ ผู้วิจัยสรุปว่า ผู้ป่วยมีการรับรู้เรื่องสิทธิน้อยมาก เพราะมีความรู้ เกี่ยวกับ วงการแพทย์ที่ไม่ดีพอ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสนใจ และ ตระหนักถึงสิทธิ ดังกล่าวของผู้ป่วย 

สำหรับสาระสำคัญของคำประกาศสิทธิผู้ป่วย ๑๐ ประการ ซึ่งได้ประกาศไปเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๑ นั้นมีสาระสำคัญดังนี้

  • ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิพื้นฐานที่จะได้รับบริการด้านสุขภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สรุปได้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธรณสุขที่ได้มาตรฐาน ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึง การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายโดยรัฐต้องจัดการให้ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าและ ทันเหตุการณ์

  • ผู้ป่วยมีสิทธิจะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่เลือกปฏิบัติ เนื่องจากความแตกต่างด้านฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ลิทธิการเมือง เพศ อายุ และลักษณะของความเจ็บป่วย

  • ผู้ป่วยที่ขอรับบริการด้านสุขภาพ มีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอและชัดเจน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอม หรือ ไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือรีบด่วนหรือจำเป็น

  • ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือรีบด่วน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจำเป็น แก่กรณี โดยไม่คำนึง ว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่

  • ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบชื่อ สกุล และประเภทของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่เป็นผู้ให้บริการแก่ตน

  • ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะขอทราบความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่น ที่ มิได้ เป็นผู้ให้บริการแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ให้บริการและสถานบริการได้

  • ผู้ป่วยมีสิทธิจะได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยเคร่งครัด เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย หรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมาย

  • ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนในการตัดสินใจเข้าร่วม หรือถอนตัว จากการเป็นผู้ถูกทดลองในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ

  • ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฏใน เวชระเบียนเมื่อร้องขอ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่น

  • บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม อาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี บริบูรณ์ผู้บกพร่องทางกายหรือจิต ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

Created and Desiged by  หมออู๋
1 March 2000

Copyright (c) 1998-2000, ThaiClinic.com. All Right Reserved.