Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

ยาสูบ
ืnicotin tar บุหรี่ ยาเสพติด มะเร็งปอด cigarette , medbible

 

บทนำ 

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ายาสูบเป็นสิ่งเสพย์ติดให้โทษต่อร่างกาย แต่ทำไมปัจจุบันยังมีคนนิยมสูบกันอยู่มากมาย ทำไมยังมีจำนวนผู้เสพยาสูบใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าทุกๆฝ่ายต่างรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ (รวมทั้งยาสูบในรูปแบบอื่นด้วย ที่ใช้คำว่า "บุหรี่" เป็นเพราะว่าชนิดของยาสูบที่คนนิยมมากที่สุดก็คือบุหรี่) แต่ทำไมบุหรี่ยังขายได้ โดยเฉพาะในบางประเทศ เช่น อังกฤษ ที่มีกำแพงภาษีบุหรี่สูงมาก ทำให้มีผู้ลักลอบขนบุหรี่จากต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส มาขาย วัยรุ่นที่นี่ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสูบบุหรี่กันมากมาย ดังที่ผมพยายามสังเกตในขณะที่ศึกษาอยู่ที่นี่ ก็พบว่าสัดส่วนของผู้หญิงต่อผู้ชายที่นิยมการสูบบุหรี่ที่อังกฤษสูงกว่าที่ประเทศของเราอย่างเห็นได้ชัด 

ทำไมประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านการแพทย์ สังคมและวัฒนธรรมอย่างนี้ยังมีคนที่สูบบุหรี่อยู่มากมาย ทั้ง ๆ ที่ความรู้พื้นฐานของประชากรดีกว่าเรา แต่การตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ จึงดูไม่แตกต่างหรืออาจจะแย่กว่าเราด้วยซ้ำไป อะไรที่แฝงในเจ้าใบยาสูบแห้ง ๆ ที่คนเราจับเอามามวนแล้วห่อด้วยกระดาษเป็นแท่งเล็ก ๆ ที่จุดไฟแล้วมีควันออกมา จึงมีอิทธิพลมากมายพอที่จะเปลี่ยนโลกได้เหมือนอำนาจอื่น ๆ

บทความที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ ผมพยายามเรียบเรียงจากหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบทความจากสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ ตำราทางการแพทย์ และจากInternet เพื่อหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ และแนะนำกันต่อ ๆ ไป เพื่อที่จะลดจำนวนผู้ที่ต้องทุกทรมานจากสิ่งเสพย์ติดนี้ อีกทั้งถ้ามีเวลาพอผมจะพยายามหาข้อมูลของอิทธิพลทางการค้าของบุหรี่ที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศของเรา ดังที่เคยประสบเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว กรณีที่เราถูกบีบบังคับจากประเทศที่เรียกตัวเองว่าเป็นมหามิตรของเรา ให้นำเข้าบุหรี่จากประเทศตนเองมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถขายในประเทศของตนเองได้มากเหมือนเมื่อก่อน

ประวัติ 

ในบทแรกนี้ผมจะขอเล่าถึงประวัติความเป็นมาของบุหรี่ซะก่อนครับ จากนั้นผมจะเล่าถึงพิษภัยต่าง ๆ ของบุหรี่ นอกจากจะทำให้เป็นมะเร็งปอดและโรคถุงลมปอดโป่งพองอย่างที่ทราบกันอยู่แล้ว บุหรี่ยังเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ที่หลายท่านอาจจะคาดไม่ถึงด้วยซ้ำไป ผมจะนำมากล่าวในตอนต่อ ๆ ไปนะครับ

แรกเริ่มเดิมทีชาวอินเดียนแดงในยุคก่อนที่ Christopher Columbus จะค้นพบทวีปอเมริกา รู้จักการบริโภคยาสูบกันมานานแล้ว ไม่ได้เป็นในรูปการสูบเป็นมวนบุหรี่หรือซิกา ร์แต่เป็นในรูปของการสูบจากกระบอกหรือ pipe เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ และการเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษเท่านั้น

จนกระทั่ง Columbus เดินเรือมาพบทวีปอเมริกา ในปี1492 เขาจึงได้นำเอาใบและเมล็ดของต้นยาสูบมาตอนที่เดินทางกลับมายังยุโรป แต่ในยุคแรก ๆ นั้นยังไม่ได้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย และการนำมาใช้ก็ยังเป็นแค่เพื่อการรักษาโรคเท่านั้น จนกระทั่งประมาณตอนกลาง ๆ คริสตศตวรรษที่ 16 ยาสูบได้เข้ามายังประเทศฝรั่งเศส (ประมาณปี 1556) ในช่วงนี้มีบุคคลที่ทำให้คนเริ่มรู้จักยาสูบมากขึ้นก็คือนาย Jean Nicot ( Nicotine สารที่พบในยาสูบเรารู้จักกันดี ก็ตั้งตามชื่อของนายคนนี้) ได้นำยาสูบมารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนให้กับ Catherine de Medici, Queen of France นับจากนั้นมายาสูบจึงได้แพร่หลายในยุโรป ตามลำดับดังนี้คือปี 1558 เข้าไปในโปรตุเกส ปี1559 สเปน และ 1565 อังกฤษ

ประเทศที่ทำให้การปลูกยาสูบและผลิตภัณฑ์จากใบยาสูบเป็นกิจการที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำมหาศาลในเวลาต่อมาก็คือประเทศอังกฤษ ซึ่งการค้าใบยาสูบในสมัยนั้นเป็นการผูกขาดของทางการราชสำนักของอังกฤษ เพราะนำเงินเข้าสู่คงคลังได้มากมาย ซึ่งอันนี้อาจรวมถึงสิ่งเสพย์ติดประเภทอื่นด้วยเช่นฝิ่น แต่การทำการเพาะปลูกเพื่อจุดประสงค์ทางการค้าจริง ๆ สำเร็จเป็นครั้งแรกโดยนาย John Rolfe ชาวอังกฤษในปี 1612 ใน Virginia และภายในเจ็ดปีให้หลังใบยาสูบก็เป็นสินค้าออกที่สำคัญของอาณานิคมอเมริกาในสมัยนั้น และประมาณสองศตวรรษต่อมาการทำไร่ยาสูบเป็นสาเหตุของความต้องการแรงงานทาสที่สำคัญของอเมริกา 

ในช่วงปี 1700 กว่าๆ ชนชั้นสูงในยุโรปนิยมบริโภคยาสูบในรูปแบบที่เป็นผงแล้วสูดเข้าทางจมูกคล้าย ๆแบบยานัตถุ์ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Snuff) มีเกร็ดความรู้เล็กน้อยที่บอกถึงความนิยมในสมัยนั้นก็คือ พระราชินีในสมัยของพระเจ้า George ที่ 3 ได้รับสมญานามว่า "Snuff Charlotte" และจักรพรรดิ Napoleon ใช้ Snuff น้ำหนักเฉลี่ยเดือนละ 7 ปอนด์

บทวิเคราะห์

บทวิเคราะห์ (ความเห็นส่วนตัว) จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของยาสูบก็จะเห็นได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มากมาย อีกทั้งยังมีส่วนชี้นำการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่สำคัญ นั่นก็คือการค้าทาสของอเมริกา และในปัจจุบันก็มีส่วนในการทำให้เกิดภาวะทาสทางเศรษฐกิจและการค้าอีกด้วย นอกเหนือจากพิษภัยต่อสุขภาพโดยตัวยาสูบเอง

ใบยาสูบ มีอะไรบ้าง ทำไมถึงมีผลต่อร่างกายมากมายขนาดที่เป็นปัญหาใหญ่ทางด้านสาธารณสุขของประเทศ

ต้นยาสูบเป็นพืชที่สามารถขึ้นบนดินหลายสภาพ และสามารถเจริญงอกงามได้ในสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย เมื่อนำใบของมันมาทำให้แห้งก็สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ ดังที่ทราบกันดี

ท่านทราบหรือไม่ว่ามีสารประกอบในใบยาสูบมากกว่า 4000ชนิด มีทั้งก๊าสต่างๆ สารประกอบเชิงซ้อน (compound substances) เช่น น้ำมัน tar, nicotine และ carbon monoxide สารที่สำคัญสามตัวที่จะขอกล่าวในที่นี้ก็คือ tar, nicotine และ carbon monoxide ตัวแรกให้โทษต่อร่างกายในฐานะที่เป็นสารก่อมะเร็ง ในขณะที่อีกตัวนั้นทำให้เสพย์ติด และอีกตัวเป็นก๊าสที่มีผลต่อการขนส่งอ๊อกซิเจนตามลำดับ

Tar เป็นสารประกอบเชิงซ้อนที่ประกอบไปด้วยสารเคมีนับพันชนิดที่สามารถทำลายเนื้อปอดได้ ส่วนประกอบบางอย่างของ tar ที่กล่าวถึงคือ กรดต่าง ๆ แอลกอฮอล์ สารอัลดีไฮด์ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน และก๊าสอันตรายต่าง ๆ เช่น ไซยาไนด์ และ ไนโตรเจน อ๊อกไซด์ ล้วนแล้วแต่เป็นสารที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายทั้งนั้น

Nicotine เป็นสารที่พบเฉพาะในใบยาสูบเท่านั้น มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทแบบอ่อน ๆ โดยออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางโดยตรง ทำให้ผู้ที่ใช้เกิดการติดได้ nicotine ก็เหมือนกับสารกระตุ้นอื่น ๆ คือทำให้หลอดเลือดเกิดการหดรัดตัว (vasoconstriction) ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น และทำให้ความอยากอาหารลดน้อยลง ถ้ารับเอา nicotine เข้าไปในปริมาณที่สูงมากก็จะทำให้เกิดมือสั่น หายใจเร็ว และอันนี้แปลกประหลาดมากเลยก็คือทำให้ปัสสาวะน้อยลง

Carbon monoxide เป็นส่วนประกอบถึง 4 เปอร์เซนต์ของควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของใบยาสูบ เป็นก๊าสที่ไม่มีทั้งสีและกลิ่น ทำให้เกิดการรบกวนของการแลกเปลี่ยนและการขนส่งอ๊อกซิเจนไปให้กับเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น และมีความต้องการอ๊อกซิเจนสูงขึ้นทั้ง ๆ ที่รบกวนการขนถ่ายอ๊อกซิเจน นอกจากนี้ก็ยังทำให้Cholesterol เกาะที่หลอดเลือดได้ง่ายขึ้นด้วย อีกทั้งรบกวนการมองและการตัดสินใจ

โทษและภัยของยาสูบ 

จากความรู้ดังกล่าวเราก็พอที่จะแยกโทษและพิษภัยของสารประกอบที่มีในใบยาสูบที่มีต่อร่างกายเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

ระบบหัวใจและหลอดเลือด
ทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็ว
ทำให้ cholesterol เกาะที่ผนังหลอดเลือดได้ง่าย
ความดันโลหิตสูงขึ้น หลอดเลือดหดตัว

ระบบทางเดินหายใจ
ทำลายเนื้อปอดโดยตรง โดยเฉพาะถุงลมและทางเดินหายใจรบกวนการขนถ่ายอ๊อกซิเจนในระดับเซลล์

ระบบประสาทส่วนกลาง
ทำให้เสพย์ติด ต้องเสพมากขึ้นเรื่อย ๆ
รบกวนการคิดและตัดสินใจ รบกวนการมองเห็น มือสั่นและหายใจเร็ว

กระดูกและข้อ
มีการศึกษาในสวีเดนเมื่อไม่นานมานี้ และตีพิมพ์ใน Archives of Internal Medicine 2001;161:983-988. พบว่าบุหรี่ เพิ่มโอกาสการเกิดกระดูกข้อสะโพกหักในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (postmenopause) ที่สูบบุหรี่มากกว่ากลุ่มที่ไม่สูบ

ระบบทางเดินอาหาร
ทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน

โรคที่เกิดจากบุหรี่

โรคที่เกิดจากบุหรี่โดยตรง

  1. ระบบหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิต บุหรี่ทำให้เป็นโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบและลงเอยด้วยการเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตาย บุหรี่ยังทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เส้นเลือดแข็ง (Atherosclerosis) แต่เปราะและแตกง่าย หลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตกได้

  2. ระบบทางเดินหายใจ บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคถุงลมในปอดโป่งพอง หลอดลมตีบ มะเร็งกล่องเสียงและมะเร็งปอด 

  3. ระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดมะเร็งของผนังช่องปาก หลอดอาหาร และที่ไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นจริงก็คือมะเร็งของตับอ่อน เนื่องจากสารพิษที่เกิดจากการสูบยาสูบนั้นสะสมในเลือดและก่อมะเร็งในตับอ่อนได้ 
    นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดโรคฝ้าขาวในปาก (leukoplakia) ซึ่งเป็นรอยโรคที่จะกลายเป็นมะเร็งในอนาคต (precancerous lesion) แต่ถ้ารักษาในระยะนี้ทันก็จะหายขาดไม่เป็นมะเร็ง

  4. ระบบประสาท ทำให้เสพย์ติด และทำให้เกิดโรคทางสมองเฉียบพลัน (Stroke) ถ้าในระยะยาวก็ทำให้ก็การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติได้ เช่น มือสั่น หรือ Parkinsonism ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่เซลล์สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ตายไปจากการที่มีการตีบตันของหลอดเลือดสมองที่ไปเลี้ยงเซลล์เหล่านั้น

  5. ระบบทางเดินปัสสาวะ บุหรี่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งของกระเพาะปัสสาวะด้วย

โดย นพ.ปิยะ สมานคติวัฒน์ ศัลยแพทย์

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
17 April 2002

Copyright (c) 1998-2001, ThaiClinic.com. All Right Reserved.