Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

การแพ้ยางในชีวิตประจำวัน
ผิวหนัง ภูมิแพ้ คัน ผิวหนังอักเสบ skin ,dermatology, eczema ,  medbible

 

การแพ้ยางในชีวิตประจำวัน 


คลิกเพื่อดูรูปใหญ่

ช่วงนี้ผมค่อนข้างว่างก็เลยมีเวลาไปเดินซื้อของ และทานอาหารข้างนอกบ้าง เนื่องจากเป็นหมอผิวหนังก็เลยช่างสังเกตไปเรื่อย (เขาว่าหมอผิวหนังมักมีตาที่ 3 เช่นเดียวกับจิตแพทย์ที่มักมีหูที่ 3) ก็พบว่าปัจจุบันมีการใช้ถุงมือกันมากขึ้นในซูเปอร์มาร์เก็ต เช่นที่แผนกขนมปัง, แผนกอาหารแช่แข็ง หรือร้านอาหารต่างๆ เช่นร้านขายแซนวิซ , บุฟเฟต์ในโรงแรม ก็มีการใช้ถุงมือในการเตรียมอาหารกันมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีถูกสุขลักษณะอนามัยมากขึ้น แต่ส่วนมากมักใช้ถุงมือยางกันเป็นส่วนมาก โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่หารู้ไม่ว่าอาจทำให้เกิดการแพ้ถึงขั้นเสียชีวิตต่อตนเองและลูกค้าได้!? คงอยากทราบแล้วซิครับว่าทำไมเป็นเช่นนั้นได้?

การแพ้ยางมีกี่ชนิด

 ก่อนอื่นต้องทราบว่าการแพ้ยางมี 2 ชนิด

  1. แพ้แบบลมพิษ (ปฎิกริยาอิมมูนชนิดที่ 1 หรือ latex allergy) ซึ่งเป็นการแพ้โปรตีนของยางเอง ซึ่งมีอาการตั้งแต่ลมพิษธรรมดา, หายใจลำบาก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  2. แพ้แบบผิวหนังอักเสบ (ปฎิกริยาอิมมูนชนิดที่ 4) เป็นการแพ้ต่อสารที่ใส่ในขบวนการผลิตยาง ซึ่งจะเป็นตุ่มนูนแดง และน้ำใสเล็กๆ
    บางคนก็แจ็กพอตแพ้ทั้ง 2 ชนิด ประเภท 2 in 1 เลย หลายคนคงสงสัยว่า แล้วการแพ้แบบ อิมมูนชนิดที่ 2 และ 3 มีหรือเปล่า? ก็ขอตอบว่ามีครับ แต่ไม่เกี่ยวกับการแพ้ยาง จึงไม่ กล่าวในที่นี้

ในวงการแพทย์ 

ในบุคลากรทางการแพทย์ เช่น หมอ และพยาบาลนั้นมีปัญหากันเรื่องการแพ้ถุงมือยางมาก แต่ก็หลีกเลี่ยงได้ลำบาก เพราะเหตุว่าถุงมือยางมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อ HIV ได้ดีกว่าถุงมือชนิดอื่น และบุคลากรทางการแพทย์ก็จำเป็นต้องสัมผัสกับเลือด และสารปนเปื้อนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ปล่อยให้พวกหมอๆเขาคิดกันต่อไปเถอะ

ประชาชนทั่วไปควรทำอย่างไรบ้าง

ผมขอแนะนำดังนี้ 

  1. การใช้ถุงมือในกิจวัตรประจำวัน เช่น การเตรียมอาหาร งานแม่บ้าน ไม่ควรใช้ถุงมือยาง เหตุผลหรือครับ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองที่จะสัมผัสกับยางนอกจากนี้ยังป้องกันลูกค้าด้วย (เพราะเหตุว่าแป้งในถุงมือยางที่ดูดยางไว้จะสัมผัสติดกับผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าจะซื้อ หรือยางอาจจะละลายน้ำติดอยู่กับผลิตภัณฑ์นั้นได้) ผมขอแนะนำว่าใช้ในถุงมือพลาสติกธรรมดาที่สะดวกกว่าและราคาถูกกว่าครับ หรือถ้าไม่มีก็ใช้ถุงพลาสติกแล้วใช้มือสอดเข้าข้างในก็ได้ครับ
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับยางเท่าที่จะทำได้หรือใช้วัสดุอื่นแทน เช่นแว่นว่ายน้ำ อาจจะใช้ที่ทำจาก ซิลิโคนแทน ในปี2539 ทาง FDA ของประเทศอเมริกาได้เริ่มออกกฎว่าอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ทุกชนิด ที่ทำมาจากยางต้องเขียนเตือนผู้ใช้ว่าทำให้เกิดการแพ้ได้
  3. ถ้าคุณมีอาการผิดปรกติเวลาสัมผัสกับยาง(เช่น ถุงมือยาง, การเป่าลูกโป่งยาง) แล้วเกิดอาการ คัน บวม แดง ผื่น หรือหายใจลำบากเกิดขึ้น ควรบอก หมอ หรือ หมอฟันทุกครั้งที่คุณไปพบ เพราะจะได้หลีกเลี่ยงอุปกรณ์แพทย์ที่ทำมาจากยาง ในประเทศอเมริกาผู้ป่วยจะใส่กำไลมือ(bracelet)ว่า"แพ้ยาง"(Latex allergy) เพราะถ้าเกิดผู้ป่วยไม่รู้สติแล้วถูกนำส่งโรงพยาบาล แพทย์จะระมัดระวังได้ถูกต้อง นอกจากนี้ยังแนะนำให้พก Epi-pen (เป็นเข็มฉีดยาepinephrineสำหรับใช้ในการแพ้ที่รุนแรง)ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย (ในประเทศไทยยังไม่มี bracelet และ Epi-penครับ) 
ถุงยางอนามัยแพ้มั้ย? 

เมื่อพูดถึงถุงมือยางแล้ว ก็ขอพูดถึงเรื่องถุงยางอนามัยด้วยครับ การแพ้ถุงยางอนามัย นอกจากจะแพ้ยางแล้วยังอาจแพ้พวกสารหล่อลื่น หรือกลิ่นต่างๆในถุงยางอนามัย ในส่วนถุงยางอนามัยชนิดที่ไม่ได้ทำมาจากยางนั้น ส่วนมากไม่สามารถป้องกันเชื้อ HIV ได้

ถ้าจำเป็นต้องใช้คงต้องใส่ 2 ชั้น คือถุงยางอนามัยกับถุง (ไม่) ยางอนามัย(แต่ก็ไม่ปลอดภัย 100%) และถ้าเกิดอีกฝ่ายแพ้ยางด้วยคงต้องใส่กัน 3 ชั้นเลย

ผมว่าทางที่ดี " รักเดียวใจเดียวดีกว่าครับ"

โดย นพ.ชูชัย  ตั้งเลิศสัมพันธ์  แพทย์ผิวหนัง

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
8 December 2001

Copyright (c) 1998-2001, ThaiClinic.com. All Right Reserved.