Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

จิตวิทยาของความรัก
love

Why, such is love's transgression
Griefs of mine own lie heavy in my breast,
Which thou wilt propagate to have it press'd 
With more of thine: this love that thou hast shown 
Doth add more grief to too much of mine own. 
Love is a smoke rais'd with the fume of sighs;
Being purg'd, a fire sparkling in lovers' eyes; 
Being vex'd, a sea nourish'd with lovers' tears: 
What is it else? a madness most discreet, 
A choking gall, and a preserving sweet.


จากบทประพันธ์โรมิโอกับจูเลียต โดย วิลเลี่ยม เชคสเปียร์
 

Love...AI...หวอ อ้ายหนี่...ลามูร์...หรือคำว่า "รัก" ในภาษาไทยนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่โลกเรามาตั้งแต่โบราณกาล ตั้งแต่ยุคที่เป็นต้นกำเนิดของมวลมนุษยชาติ ก็คาดว่าเป็นยุคที่ความรักได้อุบัติขึ้นมาแล้ว 

ต้นกำเนิดของความรัก


เป็นที่สงสัยกันมาช้านานว่า ความรักนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร
ชาวกรีกและโรมัน ในสมัยโบราณ ยกย่องให้ Aphrodite หรือวีนัส ในฐานะของเทพีแห่งความงาม และเป็นผู้ให้กำเนิดความรัก โดยมี อีรอส หรือคิวปิด บุตรชายเป็นผู้แผลงศรรักแก่มนุษย์ สัตว์ เทพ แล้วทำให้บุคคลเหล่านั้นรักกัน
ชาวอารยัน ในลุ่มแม่น้ำสินธุ ก็มีความเชื่อคล้าย ๆ กันที่ว่า พระลักษมี เป็นเทพีแห่งความงามและความรัก โดยมี กามเทพ พระโอรสเป็นผู้มอบความรักเหล่านั้นแด่มวลมนุษย์
ความเชื่อที่คล้ายกันอย่างหนึ่งก็คือ ความรักมักมาคู่กับความงาม ดังนั้น ความรักก็น่าจะเป็นสิ่งที่สวยงาม
ไม่มีใครทราบอยู่ดีว่าความรักนั้น แท้จริงแล้วมีที่มาอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ มันได้สร้างปัญหาให้กับโลกใบนี้มานานกว่าหมื่นปี

นิยามของความรัก

มีผู้ให้คำนิยามของความรักไว้หลายอย่าง แต่อาจสรุปอย่างกว้างๆ ได้ว่า ความรักเป็นความรู้สึกพิเศษที่บุคคลมีต่ออีกคนหนึ่ง
Lasswell กล่าวว่า ความรักมีหลายแบบ ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ในช่วงต้นของการจีบกัน ชายหญิงจะมีความรักแบบ โรแมนติก (Romantic Love), เมื่อเวลาผ่านไป ความรักที่มี เหตุผล (Logical - Sensible Love) ก็จะเกิดขึ้น, และเมื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนานวันเข้า ความรัก ฉันท์เพื่อน ( Lifelong Friendship) ก็จะเกิดขึ้นแทนที่
ในช่วงเริ่มจีบกันใหม่ ๆ ชายหญิงจะอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "Idealization" คือ มองอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอุดมคติ เห็นแต่คุณสมบัติอัน เลิศเลอ เพอร์เฟค ของคนรักตัวเองโดยไม่เห็นข้อบกพร่องใด ๆ (ไม่มีใครหล่อ รวย เก่ง ดี เท่าคนที่เรารักอีกแล้ว) บางครั้งจะมองเฉพาะสิ่งที่เขาอยากเห็น ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเธอ, ต่างฝ่ายพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นมาเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งพอใจ 
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความตื่นเต้นจะลดลงและความจริงก็จะชัดเจนขึ้น จนอาจทำให้ยอมรับข้อบกพร่องของกันได้ยาก แต่หากความรักได้เติบโตและมีวุฒิภาวะที่มากขึ้น คู่รักก็จะยอมรับข้อบกพร่องของกันได้ เพราะรู้ว่าในโลกนี้ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ 
ในหลายคู่ ความรักแบบโรแมนติกไม่ได้พัฒนาไปเป็นความรักที่ maturity จึงเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น เกิดความผิดหวังเสียใจที่เขาหัวล้าน พุงพลุ้ย รสนิยมไม่ดี ไม่หล่อ ไม่เท่ อย่างที่คิด จนต้องเลิกรากันไปในที่สุด

แง่มุมต่าง ๆ ของความรัก


ความรักเป็นความผูกพันทางอารมณ์ (Emotional Attachment) ที่แสดงใน 3 ด้าน คือ ด้านความรู้สึก ความคิด และการกระทำ

  • ความรู้สึก : รู้สึกรัก ชอบ รู้สึกเป็นสุขที่ได้อยู่ใกล้ ทำให้ใจเต้น มองเห็นโลกเป็นสีชมพู... 
  • ความคิด : การมองผู้ที่ตนรักในแง่ดี มองเห็นคุณค่าและความหมายของเขา อยากทำสิ่งที่ดีให้ และอยากให้เขาพบแต่ความสุข
  • การกระทำ : การปฏิบัติต่อกันอย่างอ่อนโยน การดูแลเอาใจใส่ การสัมผัส กอดจูบ และมีเพศสัมพันธ์

ปัญหาที่พบบ่อย คือ คนจำนวนมากไม่ได้มองความรักในภาพรวม แต่มองเพียงด้านเดียว (ผู้ชายบางคน ก็อาจจะเคยมีประสบการณ์ที่ว่าพอลืมวันเกิดแฟนแค่ครั้งเดียว ก็เกิดอาการงอน น้อยใจ หรือร้องห่มร้องไห้ปานโลกจะถล่มทลายว่าเขาไม่รักแล้ว ทั้ง ๆ ที่ความรักก็ยังมีเท่าเดิม ยังพาไปกินข้าว ดูหนัง รับส่งเหมือนเดิม เพียงแต่ลืมวันเกิดเพราะทำงานหนักไปหน่อยเท่านั้นเอง) 
ความรักจะต้องแสดงออกมาทางกระทำด้วย หากสามีพูดว่า ตนรักภรรยามาก แต่ไม่เคยแสดงน้ำใจหรือช่วยเหลืองานบ้านเลย (กลับมาถึงก็นอนอืดดดด ...ถุงเท้าไปทาง รองเท้าไปทาง เสื้อกาวน์อีกทาง ตะโกนให้คุณภรรยาสุดที่รักมาเสิร์ฟน้ำต่อด้วยนี่ ต่อให้คุณพี่รักหนูแค่ไหน หนูก็คงไม่เชื่อแน่ ๆ) 
ความรักที่ไม่เคยแสดงออกให้เห็นเลย ไม่เคยบอกรัก ไม่เคยพูดหวาน ไม่เคยเลี้ยงข้าว (มาถึงก็ให้เราจ่ายเองตลอด) ไม่เคยให้อะไรดี ๆ ในวันวาเลนไทน์ ไม่เคยมอบดอกไม้หรือของขวัญให้....ก็อาจทำให้คู่ของเราไม่มั่นคงได้....และในที่สุดก็ต้องผิดหวัง
อย่างไรก็ตาม มนุษย์บางประเภทอาจมีข้อจำกัดในการแสดงออกซึ่งความรัก เช่น ถูกเลี้ยงดูมาว่า ไม่ให้บอกรักผู้ชายก่อน...มันไม่ดี อย่าถูกเนื้อต้องตัวกันโดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน....มันไม่งาม 
ในกรณีนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเข้าใจในข้อจำกัดนั้น

องค์ประกอบของความรัก

มีผู้อธิบายองค์ประกอบของความรักไว้หลายอย่าง 
Sternberg (1986) กล่าวว่า ความรักมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ความใกล้ชิดผูกพัน (Intimacy) การอุทิศตัวต่อกัน (Commitment) และอารมณ์รัก (Passion) 

องค์ประกอบของความรัก ที่สำคัญ มีดังนี้

  • การอุทิศตนต่อกัน
  • ความผูกพัน
  • ความสนิทสนมอย่างลึกซึ้ง
  • การมองเห็นคุณค่าและส่วนที่ดีของอีกฝ่ายหนึ่ง
  • ความอดทน
  • การให้อภัย
  • อารมณ์รัก
การอุทิศตนต่อกัน 

องค์ประกอบที่สำคัญของความรักคือ การอุทิศตนต่อกัน (Commitment) ความรักจะคงที่และงอกงามไม่ได้หากปราศจากการอุทิศตนต่อกัน การอุทิศตนจะช่วยให้ความสัมพันธ์ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง แม้จะมีความทุกข์ ความขัดแย้ง หรือความผิดหวังเกิดขึ้น คู่รักที่อุทิศตนต่อกันจะยอมอดทนต่อความยากลำบากที่เกิดขึ้นและช่วยกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ดี

การอุทิศตน ประกอบด้วยพฤติกรรมสำคัญ 2 ประการ คือ 
1. ความรับผิดชอบ (Responsibility) ชีวิตคู่เป็นความรับผิดชอบของคนสองคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง คู่รักจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลรักษาชีวิตคู่เอาไว้ นั่นหมายความว่า ทั้งคู่ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปด้วยดี และหากความสัมพันธ์มีปัญหา ทั้งคู่ต้องช่วยกันแก้ไข ไม่ใช่โยนความผิดให้อีกคนหนึ่ง 

2. การปกป้องความสัมพันธ์ให้ปลอดภัย (Protectiveness) ชีวิตคู่เป็นระบบย่อยที่อยู่ในระบบใหญ่แห่งครอบครัว ชุมชน และสังคม ดังนั้นจะมีระบบอื่น ๆ ที่มากระทบชีวิตคู่ได้เสมอ เช่น ระบบของลูก เครือญาติ ที่ทำงาน ฯลฯ คู่สมรสหรือคู่รักต้องพยายามรักษาชีวิตคู่ให้ปลอดภัยและมั่นคง โดยการสร้างขอบเขต (Boundary) ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ระบบอื่นเข้ามาแทรกแซงความสัมพันธ์ดังกล่าว 
การอุทิศตน เป็นภารกิจร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงต่อเมื่อต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าตนเองมีค่าและเป็นที่รักของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ละฝ่ายจะต้องเชื่อมั่นในการอุทิศตนและความซื่อสัตย์ของอีกฝ่าย ทั้งต้องมั่นคงในการอุทิศตนของตนเองด้วย 
ระดับของความอุทิศตนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความพึงพอใจในชีวิตสมรส ทำให้ความสัมพันธ์ยืนยาว และทำให้การบำบัดคู่สมรสประสบความสำเร็จ (Beach และ Broderick 1983)

ความผูกพัน

ความผูกพัน (Attachment หรือ Affective Involvement) หมายถึงระดับความรู้สึกห่วงใยที่บุคคลมีต่อกัน รวมทั้งความสนใจและการเห็นคุณค่าของกันและกัน ความผูกพันที่ไม่เหมาะสมในคู่รักอาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งดังนี้ (Epstein, Bishop และ Baldwin 1982)
1. ผูกพันจนเหมือนเป็นบุคคลเดียวกัน (Symbiotic Involvement) เป็นความผูกพันที่แน่นแฟ้นจนทั้งคู่เหมือนเป็นบุคคลเดียวกันและไม่มีขอบเขตส่วนตัวเลย
2. ผูกพันมากเกินไป (Over Involvement) ความผูกพันเป็นไปอย่างปกป้อง หรือจุ้นจ้านมากเกินไป และอีกฝ่ายหนึ่งมีความเป็นส่วนตัวหรือเป็นตัวของตัวเองน้อยมาก
3. ผูกพันเพื่อตนเอง (Narcissistic Involvement) ความสนใจในอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เป็นไปอย่างจริงใจ แต่เป็นไปเพื่อตนเอง (Egocentric) และเพื่อเสริมสร้างคุณค่าให้ตนเอง
4. ผูกพันโดยปราศจากความรู้สึก (Involvement Devoid of Feeling) คู่สมรสไม่มีความลึกซึ้งทางอารมณ์และความห่วงใยด้วยน้ำใสใจจริง ความสนใจที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่งเป็นไปเพราะความอยากรู้อยากเห็น อยากควบคุมหรือเป็นไปตามหน้าที่ เช่น สามีที่มีภรรยาน้อย แต่ต้องมาแสดงความห่วงใยภรรยาหลวงยามเจ็บไข้ เป็นต้น
5. ปราศจากความผูกพัน (Lack of Involvement) คู่สมรสหรือคู่รักไม่มีความสนใจใยดีกันเลย เป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ชีวิตคู่มีความหมายเพียงการมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันเท่านั้น
ความผูกพันที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวนี้ ทำให้คู่สมรสขาดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และความรู้สึกที่จะพึ่งพิงกันได้ในยามจำเป็น นอกจากนี้ยังทำให้ไม่สามารถร่วมมือกันทำภารกิจที่สำคัญให้ลุล่วงไปได้ ตัวอย่างเช่น สามีภรรยาที่ไม่มีความผูกพันใกล้ชิดกันย่อมไม่สามารถปกครองลูกได้ เป็นต้น
ความผูกพันที่เหมาะสมคือ ความผูกพันอย่างมีความเข้าใจ (Empathic Involvement) นั่นคือ มีความสนใจและผูกพันต่ออีกฝ่ายหนึ่งอย่างแท้จริง โดยมีพื้นฐานอยู่บนความเข้าใจในความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่ง ความผูกพันแบบนี้ทำให้คู่สมรสตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของอีกฝ่ายได้อย่างเหมาะสม
ความผูกพันจะต่างกันในวงจรชีวิตแต่ละระยะ โดยจะสูงสุดในระยะที่เพิ่งรักกันใหม่ ๆ หรือแต่งงาน และลดลงในระยะที่ลูกเข้าวัยรุ่น หลังจากนั้นจะสูงขึ้นอีกเมื่อลูกโตและแยกจากครอบครัวไป

ความสมดุลระหว่างความผูกพันและความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญและจะแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ สามีภรรยาอาจมีความต้องการแตกต่างกัน เช่น สามีต้องการความเป็นตัวของตัวเองมาก แต่ภรรยาต้องการความผูกพันมาก ดังนั้น คู่สมรสหรือคู่รักต้องตระหนักถึงความแตกต่างนี้และพยายามทำให้ความผูกพันที่มีต่อกันเป็นไปอย่างเหมาะสมกับความต้องการของแต่ละฝ่าย หากความผูกพันเป็นไปอย่างเหมาะสมก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น ภรรยาเข้ามาผูกพันใกล้ชิดกับสามีมากเกินไป มาคอยดูแลเอาใจใส่มากจนสามีรู้สึกอึดอัด สามีก็อาจต้องพยายามหาทางสร้างระยะห่างด้วยวิธีต่างๆ เช่น กลับบ้านค่ำ ทำงานพิเศษ หรือไปมีผู้หญิงคนใหม่ เป็นต้น
ในชีวิตของบุคคลจะมีความผูกพันกับคนหลายคน นอกจากกับคู่ของตนแล้ว ยังมีความผูกพันกับลูก พ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงอีกด้วย แต่ต้องระวังไม่ให้ความผูกพันกับบุคคลอื่นในระบบภายนอกนั้นมากเกินว่าความผูกพันที่มีต่อครอบครัวปัจจุบัน เพราะจะทำให้ครอบครัวปัจจุบันเกิดปัญหาได้ 
การที่บุคคลมีความผูกพันกับคู่ของตนเองมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหา เช่น อาจเกิดการพึ่งพิงอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินไป มีความคาดหวังว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเข้าใจตน มีคำตอบให้ตนทุกอย่าง หรือแก้ไขปัญหาให้ตนได้เสมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ ความคาดหวังนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวัง และอีกฝ่ายหนึ่งจะเกิดความรู้สึกว่าตนปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดีพอ
การมีความผูกพันที่เหมาะสมโดยมีความเป็นตัวของตัวเองเพียงพอจะทำให้ทั้งคู่ไม่มีปฏิกิริยาต่อกันมากเกินไป ทั้งสองฝ่ายจะสื่อสารกัน เปิดเผยความรู้สึกนึกคิดต่อกันได้อย่างอิสระ และจะสามารถประคับประคองต่อกันได้ดี

ความสนิทสนมอย่างลึกซึ้ง

Intimacy หมายถึง ความรู้สึก ใกล้ชิด เชื่อมโยงผูกพัน และห่วงใยในสวัสดิภาพของอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องการให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข มีความเข้าใจกัน แบ่งปันซึ่งกันและกัน พูดคุยกันอย่างใกล้ชิด ให้การประคับประคองทางอารมณ์แก่กัน เห็นแก่คุณค่าของกันและไว้วางใจซึ่งกันและกัน 
Intimacy เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตสมรส เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ทั้งคู่อดทนและฝ่าฟันอุปสรรคไปได้

Intimacy มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

  • ความผูกพัน ห่วงใยเอาใจใส่อีกฝ่ายหนึ่งด้วย เอาใจใส่ในสวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ และความรู้สึกซึ่งกันและกัน ดูแลต่อกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เป็นที่พึ่งพิงของกันได้ในยามลำบาก

  • การใช้เวลาร่วมกัน 

  • การเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้ต่างยกโทษให้กันได้และร่วมมือกันแก้ปัญหา แทนที่จะโกรธหรือทะเลาะกัน .....ต้องอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการเปิดเผยความรู้สึกนึกคิดต่อกันอย่างอิสระ

  • การร่วมรับรู้ในความสุข คู่รักต้องสามารถให้ความสุขกับอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร การมีความสนุกสนานร่วมกัน แบ่งปันความสุขและความรู้สึกดี ๆ ให้กัน

  • การร่วมรับรู้ในความทุกข์ ความรู้สึกเชิงลบหลายอย่าง เช่น ความโกรธ เศร้าเสียใจ ขมขื่น เจ็บปวด รู้สึกผิด ฯลฯ

การร่วมรับรู้ในความรู้สึกเชิงลบของอีกฝ่ายหนึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปด้วยดี มีความรักใคร่ผูกพันกัน และเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น
Intimacy จะเป็นไปได้ดีด้วยปัจจัยต่อไปนี้
1. ความใกล้และความห่างที่เหมาะสม ความใกล้ชิดทางกายภาพ (Physical Closeness) จะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้าง Intimacy ใกล้กันพอที่จะรู้สึกถึงความรักใคร่ผูกพัน และห่างกันพอที่จะมีความเป็นตัวของตัวเอง
2. ความสมดุลในอำนาจ อำนาจที่เท่าเทียมกันจะทำให้เกิด Intimacy อย่างแท้จริง ผู้ชายมักเคยชินกับสถานภาพที่มีอำนาจมากกว่าผู้หญิง ดังนั้นถ้ามีภรรยาที่ดุเกินไป ก็จะไม่สามารถมี Intimacy ที่แท้จริงกับภรรยาได้....อาจทำให้เกิดการคบชู้หรือมีภรรยาน้อยตามมา
3. การสื่อสารและการแก้ไขความขัดแย้ง จะทำให้ไม่มีกำแพงกั้นระหว่างคู่รัก

การมองเห็นคุณค่าและส่วนที่ดีของอีกฝ่ายหนึ่ง

คู่รักจะต้องมองเห็นคุณค่า ความหมาย และสิ่งดีในกันและกัน ซึ่งการมองเห็นคุณค่าและส่วนดีของอีกฝ่ายหนึ่งอาจทำได้โดย

แสดงความขอบคุณในสิ่งดีที่อีกฝ่ายหนึ่งทำให้

การแสดงออกซึ่งความรัก เช่นการสัมผัส การโอบกอด รวมทั้งคำพูดว่า "ผมรักคุณ"
ความอดทน
ความอดทนเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงวุฒิภาวะ (Maturity) ความรักที่เติบโตถึงวุฒิภาวะจะต้องมีความอดทนและความหนักแน่น ความอดทนจะทำให้คู่รักจัดการกับความขัดแย้ง ความผิดหวัง และความขมขื่นได้อย่างเหมาะสม ความอดทนจะทำให้คู่รักโต้ตอบกันช้าลง ใช้เวลาใคร่ครวญก่อนว่าปฏิกิริยาที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร และหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความอดทนจะต้องประกอบด้วยความรักและการให้อภัย ไม่ใช่อดทนแบบเก็บกดความโกรธไว้ ความอดทนแบบแรกจะนำมาซึ่งความสงบใจ แต่แบบหลังจะนำมาซึ่งความรุ่มร้อนใจ ความโกรธและการพยายามแก้แค้น
 

 
การให้อภัย

ในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ฝ่ายหนึ่งอาจทำให้อีกฝ่ายหนึ่งโกรธ เสียใจ และรู้สึกเจ็บปวดได้บ่อย ๆ หากไม่มีการให้อภัยซึ่งกันและกัน ก็จะเกิดความขมขื่นที่ฝังลึกและกัดกร่อนความสัมพันธ์ให้พังทลายลงได้ และฝ่ายที่เจ็บปวดต้องทำความเข้าใจเหตุผลและข้อจำกัดของฝ่ายแรก พร้อมที่จะให้อภัยและให้โอกาสฝ่ายแรกในการเริ่มต้นใหม่
การยกโทษและคืนดีกัน เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น 

อารมณ์รัก

อารมณ์รัก (Passion) คือ ความปรารถนา ที่ดึงดูดหญิงชายเข้าหากัน อารมณ์รักแสดงออกมาในรูปของความรู้สึกโรแมนติก ความต้องการใกล้ชิดด้านกายภาพ กอด จูบ จับมือ รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ 
ในระยะเริ่มต้น อารมณ์รักมักจะรุนแรงมาก และจะค่อยลดความรุนแรงลงเรื่อย ๆ (อย่างที่พ่อบ้านบางคนบอกว่าน้ำพริกถ้วยเก่า จืดจาง ต้องออกไปหาอารมณ์รักกับสาวน้อยหน้าใหม่ ใสปิ๊ง)
สำหรับผู้ชาย การแสดงออกซึ่งความรักจะเกี่ยวข้องกับความต้องการทางเพศเป็นอย่างมาก แต่ผู้หญิงมักถือว่า การแสดงออกซึ่งความรักและความห่วงใยนั้นมีความสำคัญกว่าการมีเพศสัมพันธ์ 

Physiology of love

ได้มีการศึกษาถึงโครงสร้างการทำงานของสมองและสารเคมีในร่างกายในขณะที่กำลังมีความรัก อยู่หลายชิ้น
Bartels A, Zeki S. ทำการวิจัยใน subject 17 คนซึ่งกำลังตกอยู่ในห้วงรัก โดยให้คนเหล่านั้นเข้าเครื่องตรวจ MRI scan พร้อมกับดูรูปถ่ายคนรักของตัวเอง ก่อนที่จะนำมาเปรียบเทียบกับผลตรวจเมื่อคนเหล่านั้นดูรูปถ่ายของเพื่อนสนิท 3 คนที่มีเพศเดียวกันกับคู่รักของตนตลอดจนมีอายุและระยะเวลาที่รู้จักกันมาพอ ๆ กับคู่รักด้วย ผลการศึกษาพบว่ามีการทำงานมากขึ้นของ foci ใน medial insula และ anterior cingulate cortex รวมทั้ง caudate nucleus และ putamen ทั้ง 2 ข้าง ในขณะที่ posterior cingulate gyrus และ amygdala ตลอดจน right-lateralized in the prefrontal, parietal และ middle temporal cortices มีการทำงานที่ลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งตำแหน่งที่พบเหล่านี้ต่างออกไปจากที่พบในการศึกษาของอารมณ์ความรู้สึกอื่น ๆ จึงอาจสรุปได้ว่าการทำงานของอารมณ์รัก เกิดขึ้นที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ
Marazziti D, Akiskal HS, Rossi A, Cassano GB. ได้ทำการศึกษาใน subject 20 คน ซึ่งเพิ่งตกหลุมรักในช่วง 6 เดือน เปรียบเทียบกับคนไข้ Obsessive Compulsive Disorder (OCD) ที่ไม่ได้รับการรักษา 20 คน และ control อีก 20 คน โดยนำมาตรวจวัดระดับ 5-HT transporter บริเวณ Platelet membrane ด้วยวิธี 3H-Par (3H-paroxetine) ผลการศึกษาพบว่า 3H-Par binding sites ในคนที่กำลังมีความรักและคนไข้ OCD มีปริมาณต่ำกว่า control อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนที่กำลังอยู่ในห้วงของความรัก (early romantic phase of a love relationship) นั้นมีความหนาแน่นของ platelet 5-HT transporter ที่ลดลงกว่าคนปกติ เช่นเดียวกันกับคนไข้ OCD (นั่นอาจเป็นคำอธิบายที่ว่า เหตุใดคนมีความรักจึงชอบคิดซ้ำซากวกไปวนมาถึงคนรัก ไม่ต่างจากคนไข้ OCD)
Porges SW. กล่าวว่า วิวัฒนาการของ Autonomic Nervous System ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูง ทำให้เกิดกระบวนการต่างๆทางอารมณ์ เช่น การเกี้ยวพาราสี, sexual arousal และความผูกพัน เชื่อว่า ระบบประสาทอัตโนมัติที่เกี่ยวข้องกับความรัก ส่วนที่ 1 ได้แก่ Unmyelinated vagus nerve ซึ่งช่วยในการย่อยอาหารและทำให้เกิดพฤติกรรม "อยู่เฉยๆ" (immobilized system) ส่วนที่ 2 ได้แก่ Sympathetic nervous system ซึ่งจะเป็นตัวเพิ่ม metabolic output และ inhibit visceral vagus ทำให้เกิดพฤติกรรม "หนี" หรือ "ต่อสู้" (fight or flight) ส่วนที่ 3 ได้แก่ Myelinated vagus ซึ่งทำหน้าที่ควบคุม cardiac output โดยมีส่วนเชื่อมต่อกับ Cranial nerve ที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกของสีหน้าและการสนทนา 
มีทฤษฎี Polyvagal Theory กล่าวถึงการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับความรัก ซึ่งมี 2 ขั้นตอน ได้แก่การเกี้ยวพาราสี และการดำรงความสัมพันธ์ โดยการเกี้ยวพาราสีจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสังคมและ Myelinated vagus ส่วนการดำรงความสัมพันธ์ จะมีความเกี่ยวข้องกับ Unmyelinated vagus ซึ่งทำหน้าที่ใน immobilized system และทำให้เกิดความรู้สึก "ปลอดภัย" หรือ "เชื่อใจ" ทฤษฎีดังกล่าวเชื่อว่า Vagus nerve มีการสื่อสารกับ hypothalamus ผ่านทาง oxytocin และ vasopressin ทำให้เกิด sexual arousal และความสัมพันธ์อันยืนนาน

Love and Affection

ความรักคือรูปแบบหนึ่งของอารมณ์ ใครบางคนได้เคยกล่าวไว้ว่า ความรัก คือ อารมณ์ที่สร้างปัญหาให้กับมนุษย์ ความรักเป็นอารมณ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อันประกอบไปด้วยหลายขั้นและหลายองค์ประกอบที่ซับซ้อน ซึ่งได้แก่ Companionate และ Romantic Love
Romantic Love เป็นรูปแบบความรักที่มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมมาแต่โบราณโดยมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย Romantic Love มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ความต้องการทางกายและสัญชาติญาณในการสืบเผ่าพันธุ์ จึงเป็นรากฐานของ Romantic Love
Love โดยทั่วไปหมายถึงความสัมพันธ์ในสังคม (social relationship) มากกว่าขบวนการหรือสภาวะทางอารมณ์ (Emotional process or state) เมื่อเรากล่าวว่าคนสองคนเป็นคู่รักกัน เราจะหมายถึงความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่มั่นคง ซึ่งอาจจะเป็นความรู้สึก "รัก" ภายใต้ภาวะที่เหมาะสม แต่ไม่จำเป็นว่าความรู้สึกนั้นจะต้องคงที่
ในความรักที่แท้จริง อาจจะมีความรู้สึกหลาย ๆ แบบปะปนกัน ตั้งแต่ ความหวัง ความหลงใหล ความโกรธ การวางเฉย ความเบื่อ ความรู้สึกผิด ความทุกข์ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคู่รัก ในช่วงเวลาต่างๆ ความสัมพันธ์อาจเปลี่ยนจาก Romantic Love ไปเป็น Companionate Love หรือจาก Companionate Love ไปเป็น Romantic Love ก็ได้
Sternberg (1987) กล่าวว่า ความรัก มีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ ความผูกพัน (Intimacy) ความหลงใหล (Passion) และข้อผูกมัด (Decision Making) 

องค์ประกอบดังกล่าวเปรียบเสมือนมุมทั้งสามของรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า อันเป็นตัวกำหนดรูปแบบของความรัก 8 ชนิด ได้แก่
1. เฉย (nonlove) เป็นความรู้สึกของคนทั่วไปในสังคมที่ไม่รู้จักกันมาก่อน
2. ชอบ (Liking) หมายถึง ความรู้สึกใกล้ชิดผูกพัน ต่ออีกบุคคลหนึ่ง แต่ปราศจากความหลงใหล หรือข้อผูกมัด
3. รักแรกพบ (Infatuated Love) เกี่ยวข้องกับความรู้สึกหลงใหล แต่ปราศจากความผูกพันหรือข้อผูกมัด
4. หมดรัก (Empty Love) เกิดจากการตัดสินใจผูกมัดที่ปราศจากความผูกพัน และความหลงใหล พบได้ในคู่รักที่คบกันมาสักระยะจนความรู้สึกถูกใจในรูปร่างหน้าตาเริ่มหมดไป
5. รักโรแมนติก (Romantic Love) ประกอบด้วยความหลงใหล ผูกพัน โดยปราศจากข้อผูกมัด
6. Fatuous Love เป็นความรักที่มีข้อผูกมัด และความรู้สึกหลงใหล แต่ปราศจากความผูกพัน
7. Consummate Love เป็นความรักที่มีองค์ประกอบครบทั้งสามด้าน คือทั้งความหลงใหล ข้อผูกมัด และความใกล้ชิดผูกพัน

Freud กล่าวว่า ความรัก ทำให้ได้มาซึ่งพลังอำนาจ และความรุนแรง 
ฟรอยด์คิดว่าประสบการณ์และความรู้สึกจากวัยเด็ก จะมีผลต่อความสัมพันธ์ และความเข้าใจในความสัมพันธ์อื่น ๆ ในชีวิต 
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อการเลือกบุคคลที่ตนจะมีความสัมพันธ์ด้วย (object choice) ดังที่ฟรอยด์ได้เคยอธิบายว่าการเลือกบุคคลที่จะมีความสัมพันธ์ด้วยอาจจะเป็นแบบ anaclitic ซึ่งเป็นการเลือกเพราะบุคคลที่ตนเลือกนั้นกระตุ้นให้ระลึกถึงบุคคลที่มีความสำคัญในอดีต หรือการเลือกแบบ narcissistic โดยการเลือกบุคคลที่มีลักษณะบางอย่างเหมือนตนเอง โดยที่ทั้งสองแบบนั้นอาจเป็นแบบบวก (positive way) คือเลือกคนที่เหมือนบุคคลในอดีตหรือเหมือนตน แบบลบ (negative way) คือเลือกคนที่ตรงกันข้ามกับบุคคลในอดีตหรือตนเอง และแบบอุดมคติ (ideal way) คือบุคคลที่ตนเลือกนั้นเป็นเหมือนดังที่ตนเองอยากให้บุคคลในอดีตหรือตนเองเป็น

ความรักในทางพระพุทธศาสนา 

ท่านได้จำแนกเรื่องความรักไว้เป็นสองประเภท คือ 
1. ความรักที่เกิดจาก กามฉันทะ คือ ความเร่าร้อน ความกระหาย ที่อยากจะได้ในสิ่งที่ตนพึงปรารถนา หากได้ตามใจปรารถนาแล้ว ผู้นั้นก็จะมีความชื่นชมยินดี มีความสุขทั้งกาย และใจ ถ้าต้องประสบกับความผิดหวัง จิตของผู้นั้นจะมีแต่ความโทมนัส เศร้าโศกเสียใจ บังเกิดเป็นความทุกข์กายติดตามมา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ร่างกายซูบซีดเศร้าหมอง เบื่อโลก เบื่อชีวิต เบื่องานเบื่อการ มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ขาดสติสัมปชัญญะ หาทางเบียดเบียนคู่ต่อสู้ด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นการผิดศีล หากยังไม่สมปรารถนาอีก บางคนก็อาจจะคิดสั้นก่ออกุศลกรรม สร้างทุกข์โทษให้แก่ตัวเอง คือ การอัตวินิบาตกรรม และหรือ แก่ผู้อื่นด้วยวิธีการอื่นๆ เท่าที่อกุศลเจตนาจะพาไป 

2. ความรักที่เกิดจาก เมตตา ซึ่งมีอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์โดยทั่วถ้วนหน้า โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น วัย เวลา สถานที่ และสามารถแผ่กระจายไปได้ทุกหนทุกแห่งอย่างไม่มีขอบเขต เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับจิตวิญญาณของมนุษย์ตั้งแต่ต้น ยกเว้นผู้ที่มีความพิการทางสมองซึ่งไม่สามารถกระตุ้นจิตวิญญาณให้เกิดอารมณ์ในลักษณะ นี้ขึ้นได้
นิยามของความรัก ที่เทียบธรรมในทางพุทธที่ใกล้เคียงที่สุดคือ พรหมวิหาร 4 (พรหม = ที่พึ่ง, วิหาร = เครื่องอยู่) = ธรรมของความเป็นที่พึ่งพาได้คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
- เมตตา คือ ความรัก,ความปรารถนาให้เขามีความสุข, แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า (ข้อ 1 ในพรหมวิหาร 4, ข้อ 2 ในอารักขกรรมฐาน 4) 
- กรุณา คือ ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์,ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา
- มุทิตา คือ ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี,เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนไม่กีดกันริษยา 
- อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลางไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น (ข้อ 4 ในพรหมวิหาร4, ข้อ 7 ในโพชฌงค์ 7, ข้อ 10 ในบารมี 10, ข้อ 9 ในวิปัสสนูปกิเลส 10) 

เมื่อนิยามความรักแล้ว คำบรรยายความรักในทางโลกสำหรับผู้ยังมีกิเลส (กิเลส สิ่งที่ทำใจให้เศร้าหมอง, ความชั่วที่แฝงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด ทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่บริสุทธิ์) ยังไม่ใช่ความรักที่บริสุทธิ์ตามพรหมวิหารธรรมล้วน ๆ ยังเจือปนไปด้วยอุปกิเลส (คือโทษเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำจิตใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก 
ความสุขจากการกระทำกรรมดีร่วมกันมาจะส่งผลก่อน ดึงคนสองคนเข้ามาหากัน และหลังจากนั้นกรรมไม่ดีจะเริ่มแสดงตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์ระหว่างกัน ทะเลาะกัน
ความรักทุกชนิดของปุถุชน จะเจือปนด้วยกิเลสได้เสมอแม้แต่การรักลูก ตราบที่ยังมีลูกของเรา (ต้องดี ต้องเก่ง ต้องเยี่ยม ต้องสวย ต้องหล่อกว่าคนอื่น) จนความรักกลายเป็นการผลักดันลูกให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยอ้างความรัก
ความ รักของปุถุชนหนุ่มสาวที่ยังมีกิเลส มีกามราคะ (ความพึงใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) เริ่มจากตาเห็นรูป แล้วจิตที่ยังมีอวิชชา มีความหลงครอบงำ เริ่มปรุงแต่งว่า เมื่อรูปข้างนอกสวย จิตใจข้างในต้องดีด้วยเป็นแน่ (คิดเอา คาดเอาเอง) จึงพยายามสร้างปัจจัยทุกทางเพื่อให้ได้ครอบครองเพื่อเสพสิ่งที่ตน (คิดเอาเอง) ว่าดีนั้น เริ่มจากการเสพรูป (ผ่านทางตา) เสพรส (ผ่านทางปากหรือลิ้น) เสพกลิ่น (ผ่านทางจมูกโดยการดมกลิ่น) เสพเสียง (ผ่านทางหู) สัมผัส (ผ่านทางกายโดยการจับมือถือแขน ลูบไล้ กอดรัด รวมถึงการร่วมประเวณี) นี่เป็นการบรรยายในมุมของการเสพ คือมองจากภายนอก 
ถ้าจะบรรยายจากมุมมองของสติและสัมปชัญญะที่เห็นภาพรวมจากภายในจิตออกไปภายนอกนั้น ต้องเริ่มจาก
จิตที่มีอวิชชา - ความไม่รู้บังไม่ให้เห็นว่าจิตกำลังหลง เริ่มจากมีสิ่งกระทบ (ผัสสะ) มากระทบกับอายตนะ (เครื่องดึงดูดให้จิตส่งออกนอก มีตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ไม่ว่าจะเป็นรูปกระทบตา เสียงกระทบหู กลิ่นน้ำหอมหรือกลิ่นกายกระทบจมูก ได้ชิมรสต่าง ๆ (ในกรณีของอาหาร) ทางลิ้น ได้สัมผัสทางกาย (กายของเพศตรงข้าม หมอน เบาะหรือที่นอนนุ่มๆ ตลอดจนการปรุงแต่งของสังขารขันธ์หรือใจ ที่ทำการ amplify จนความยึดมั่นในคนหรือวัตถุที่จิตไปเกาะยึดอยู่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ) ส่งให้จิตปรุงแต่งหาวิธีครอบครองคนหรือจิตหรือวัตถุนั้น ๆ จนเกิดเป็นมโนกรรม วจีกรรม ตลอดจนกายกรรมต่อไป และถ้าบุคคลไม่มีศีลแล้ว ก็สามารถกระทำการที่ละเมิดบุคคลอื่นจนเกิดเป็นกรรมไม่ดีขึ้นมาได้ต่อไป
ความรักจะเป็นพิษ เมื่อบุคคลยึดกับวัตถุสิ่งของหรือบุคคลอื่นมากจนขาดสติและสัมปชัญญะ ไม่ได้สำรวจตรวจสอบตนเองจนไปละเมิดบุคคลอื่น 
เริ่มจาก ปาณาติบาต (การตัดชีวิตสัตว์อื่นให้สิ้นไป) อทินนาทาน (ถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้มอบให้มาเป็นของตน) กาเมสุมิจฉาจาร (ความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ผิดประเวณี คือไปแย่งของรัก ละเมิดคู่รักผู้อื่น) มุสาวาทา (พูดไม่จริงที่ทำให้เกิดความเคยชินกับการผิดศีล ทำให้ลดความรู้สึกผิดเวลาผิดศีลลงไปเรื่อย ๆ) หรือ สุราเมรัย (ดื่มสุราเกินพอดีจนทำให้ขาดสติ)

When love beckons to you, follow him,
Though his ways are hard and steep.
And when his wings enfold you, yield to him,
Though the sword hidden among his pinions may wound you,
And when he speaks to you believe in him.
Though his voice may shatter your dreams as the North Wind lays waste the garden.
For even as love crowns you so shall he harm you. 
Even as he is for your growth so is he for your pruning.
Even as he ascends to your height and caresses your tenderest branches that quiver in the sun,
So shall he descend to your roots and shake them in their clinging to the earth.
Like sheaves of corn he gathers you unto himself.
He threshes you to make you naked.
He sifts you to free you from your husks.
He grinds you to whiteness.
He kneads you until you are pliant:
And then he assigns you to his sacred fire.
All these things shall love do unto you that you may know the secrets of your heart, and in that knowledge become a fragrant of Life's heart.
Love gives naught but itself and takes naught but from itself.
Love possesses not nor would it be possessed;
For love is sufficient unto love.


จากหนังสือปรัชญาชีวิต โดย คาริล ยิบราห์น

โดย พญ.มณฑิรา พรศาลนุวัฒน์ จิตแพทย์

References
  • ศาสตราจารย์ พญ.อุมาพร ตรังคสมบัติ(2545). จิตวิทยาชีวิตคู่ และ การบำบัดคู่สมรส (The Psychology of Marriage and Marital Therapy). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์วิจัยและบำบัดครอบครัว: 9-19.

  • ชมรมพุทธศิลปศึกษาและประเพณี. สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. สารครอบครัวชาวพุทธ. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

  • Jonathan Gathorne-Hardy (1981). Love Sex Marriage and Divorce. Great Britain: 104, 180, 217-225.

  • Richard S. Lazarus(1991). Emotion and Adaptation. New York: Oxford, 274-280.

  • Bartels A, Zeki S(2000). The neural basis of romantic love. Neuroreport 27;11(17):3829-34. Wellcome Department of Cognitive Neurology, University College London, UK.

  • Marazziti D., Akiskal H. S., Rossi A., Cassano G. B(1999). Alteration of the platelet serotonin transporter in romantic love. Psychol Med 1999 May;29(3):741-53. Dipartmento di Psichiatria, Neurobiologia, Farmacologia e Biotecnologie, University of Pisa, Italy.

  • Komisaruk BR, Whipple B.(1998). Love as sensory stimulation: physiological consequences of its deprivation and expression. Psychoneuroendocrinology 1998 Nov;23(8):927-44. Department of Psychology, Rutgers, State University of New Jersey, Newark 07102, USA.

  • Porges SW.(1998). Love: an emergent property of the mammalian autonomic nervous system. Psychoneuroendocrinology 1998 Nov;23(8):837-61. Institute for Child Study, University of Maryland, College Park 20742-1131, USA.

  • Carter CS(1998). Neuroendocrine perspectives on social attachment and love. Psychoneuroendocrinology 1998 Nov;23(8):779-818. Department of Biology, University of Maryland, College Park 20742, USA.

  • Crews Dz(1998). The evolutionary antecedents to love. Psychoneuroendocrinology 1998 Nov;23(8):751-64. Institute of Reproductive Biology, University of Texas at Austin 78712, USA.

  • Lynch JJ.(1998). Decoding the language of the heart: developing a physiology of inclusion. : Integr Physiol Behav Sci 1998 Apr-Jun;33(2):130-6. The Life Care Foundation, Towson, Maryland 21204, USA.

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
22 September 2002

Copyright (c) 1998-2002, ThaiClinic.com. All Right Reserved.