Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

โรคข้อเสื่อม
ortho , joint ,degenerative , rheumatology , medbible

 

โรคข้อเสื่อมคืออะไร ?
โรคข้อเสื่อมเป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบชนิดหนึ่ง ที่พบได้บ่อยที่สุด ในบรรดาโรคข้อทั้งหลาย พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และในคนที่มีอายุ มากกว่า 75 ปีขึ้นไปจะมีข้อเสื่อมมากกว่าร้อยละ 80-90 แต่อาจไม่มีอาการทุกคนก็ได้ คือ มีข้อเสื่อมแต่ไม่มีอาการปวด ถ้าไม่ใช้งานข้อมาก 

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่ามีการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อ
(กระดูกอ่อน เป็นกระดูกบริเวณส่วนปลายของกระดูก 2 ท่อน ที่มาเชื่อมต่อกันเป็นข้อ กระดูกอ่อนปกติ จะเรียบ มีความยืดหยุ่น ทำหน้าที่ลดแรงที่กระทำต่อข้อและทำให้ข้อเคลื่อนไหวด้วยความราบรื่น ) เมื่อกระดูกอ่อนสึกมาก เวลาข้อมีการเคลื่อนไหว กระดูกแท้จะเสียดสีกันทำให้เกิดความเจ็บปวด และเกิดเสียงดัง ( ข้อลั่น ) เมื่อเป็นนาน ๆ ร่างกายจะพยายามสร้างกระดูกใหม่เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง ของข้อ เกิดเป็นกระดูกงอกในภาพรังสี

ปัจจัยที่ทำให้ข้อเสื่อม

ปัจจัยที่ทำให้ข้อเสื่อมมีหลายประการ ที่สำคัญคือ

  • ความชรา โรคนี้พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ กระดูกอ่อนในผู้สูงอายุจะแตกต่างจากคนอายุน้อย ทำให้มีโอกาสเกิดโรคข้อเสื่อมได้ง่ายขึ้นแต่โรคข้อเสื่อมก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอายุ ที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว 
  • น้ำหนักตัว โรคนี้พบบ่อยในคนอ้วน ยิ่งน้ำหนักตัวมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นโรค ข้อเสื่อม โดยเฉพาะข้อใหญ่ๆ ที่รับน้ำหนักตัว เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก 
  • การใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งยองๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ คุกเข่า เหล่านี้ก็ทำให้ข้อมีโอกาส เกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากขึ้น 
  • การเปลี่ยนแปลงในกระดูกอ่อน ที่เกิดในโรคบางอย่าง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ การติดเชื้อในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบในข้อ และทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อทำให้ข้อเสื่อมได้ 

อาการที่เกิดจากข้อเสื่อม

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคข้อเสื่อมมักจะไม่มีอาการก่อนอายุ 40 ปี นอกจากผู้ที่มีอุบัติเหตุ ต่อข้อนำมาก่อน ในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแม้จะมีการ เปลี่ยนแปลงทางภาพรังสี 
อาการของโรคข้อเสื่อม มักค่อยๆ เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มแรกมักจะมีอาการปวดเวลา เคลื่อนไหวข้อมากๆ และมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการพักผ่อน ต่อมาอาการอาจเป็นมากขึ้น ใช้งานข้อน้อยๆ ก็ปวด หรือ เวลาพักข้อไม่ได้ทำงานอะไรก็ปวด บางครั้งการมีเสียงดังที่ข้อ กรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหวข้อ บางครั้งอาจมีอาการข้อขัดตึงหลังตื่นนอน หรือหลังจากพักอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ใช้ข้อนานๆ แต่จะเป็นอยู่ไม่กี่นาที เมื่อปวดข้อมากขึ้น ผู้ป่วยจะไม่ค่อยพยายามออกกำลังกาย หรือใช้ข้อมาก กล้ามเนื้อจะมีอาการอ่อนแรงตามมา 

 

 

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคข้อเสื่อมจะอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเป็นสำคัญ การถ่ายภาพรังสีจะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยและบ่งบอกถึงความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะในกรณีที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ในบางครั้งแพทย์อาจจำเป็นต้องตรวจพิเศษ อย่างอื่นเพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่มีอาการ คล้ายคลึงโรคข้อเสื่อมออกไป

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเสื่อมให้หายขาดได้ เมื่อเกิดความเสื่อมของข้อขึ้นแล้ว การรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีจุดหมายคือ มุ่งลดอาการปวดหรืออาการอักเสบ ในขณะเดียวกันก็พยายามทำให้การเคลื่อนไหว ของข้อเป็นไปตามปกติ โดยป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปร่างของข้อ ทำให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหรือทำการงานได้ตามปกติ ซึ่งแนวทางการรักษาทั่ว ๆ ไปมีดังนี้
1. การปกป้องข้อ

  • ผู้ป่วยควรรู้จักการปฏิบัติตัวที่จะไม่ทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น เช่นการวิ่ง นั่งพับเพียบในรายที่มีข้อเข่าเสื่อม หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ในรายที่มีกระดูกสันหลังเสื่อม เป็นต้น 
  • การลดน้ำหนักในรายที่อ้วนมากก็ช่วยลดแรงน้ำหนักตัวที่กระทำผ่านข้อได้เช่นกัน 
  • การใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ไม้เท้า จะช่วยลดและถ่ายแรงที่กระทำ ผ่านข้อของขาได้

2. การบริหารร่างกาย 

การบริหารร่างกายเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการควบคุมโรคข้อเสื่อม จุดประสงค์ของการบริหารร่างกายก็เพื่อทำให้ข้อมีการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และยังช่วยบรรเทาอาการปวด ได้ด้วย 

3. การรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยความร้อนและความเย็น

จะช่วยคลายการเกร็งของกล้ามเนื้อและลดความเจ็บปวดได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อคำแนะนำวิธีที่ดี เหมาะสมที่สุดสำหรับท่าน

4. การใช้ยา

มียาลดความเจ็บปวดและยารักษาข้ออักเสบมากมายที่ใช้ในการรักษา ข้อเสื่อม ผู้ป่วยแต่ละรายจะตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเหล่านี้ พึงระลึกไว้เสมอว่า ยาเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโรคข้อเสื่อม ให้กลับหายเป็นปกติได้ แต่จะช่วยลดความเจ็บปวดหรือการอักเสบของข้อ เพื่อที่จะช่วยให้ผ ู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตประจำวัน และสามารถทำกายบริหารเพื่อเพิ่มความ แข็งแกร่งของกล้ามเนื้อได้มากขึ้น

5. การผ่าตัด

การผ่าตัดเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อม ในรายที่ได้รับการรักษาดังกล่าว ข้างต้นแล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดจะช่วยป้องกันหรือแก้ไขความผิดปกติจากโรคข้อเสื่อม ลดความเจ็บปวด และทำให้ ผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อได้ดีขึ้น การผ่าตัดเปลี่ยนข้อจะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมในระยะท้ายได้

การผ่าตัดจะได้ผลดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยขึ้นอยู่กับชนิด ของการผ่าตัด การรักษาทางยา ร่วมกับกายภาพบำบัดก่อน และภายหลังการผ่าตัด และที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้ป่วยเอง ในการให้ความร่วมมือในการรักษา

โดย  นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์  ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
15 January 2001

Copyright (c) 1998-2001, ThaiClinic.com. All Right Reserved.