Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

โรคแอนแทรกซ์
Anthrax , Biological weapon , infection , ติดเชื้อ Bacteria แบคทีเรีย

กระดูกพรุน กระดูกโปร่งบาง 

โรคแอนแทรกซ์ 
โรคแอนแทรกซ์ ซึ่งกำลังถูกใช้ในการทำสงครามชีวภาพ ความจริงโรคนี้ไม่น่ากลัวนัก รักษาก็ไม่ยาก และบ้านเราเองก็มีมานานแล้ว แต่มีประปรายไม่มาก มาทำความรู้จักกันเลยนะครับ

สาเหตุ

โรคแอนแทรกซ์ ( อ่านว่า แอนแถรก ) ได้รับการพิสูจน์ โดย โรเบิต คุก ในปี พ.ศ. 2420 ว่ามีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย แบซิลลัส แอนทราซิส ( Bacillus anthracis ) ซึ่งมีรูปร่างลักษณะเป็นแท่ง เชื้อสามารถสร้างสปอร์ในอาหารเหลว สปอร์ มีลักษณะเป็นช่องกลมๆใส อยู่ภายในเซลล์ สปอร์สามารถอยู่ในดินได้นาน 20-25 ปี ในที่แห้งมีความทนทานต่อความร้อน 140 C ได้นาน 1-3 ชั่วโมง แต่ถ้ามีความชื้นด้วย เช่นนำไปต้ม จะทนความร้อน 100 C ซึ่งเท่ากับความร้อนที่น้ำเดือด ได้นานเพียง 5-30นาทีเท่านั้นครับ เชื้อนี้พบได้ตามพื้นดิน ไม่เคลื่อนไหว ชอบอยู่ติดกันเป็นโซ่ยาวๆ การระบาดมักจะติดเชื้อในสัตว์ และรุนแรงจนทำให้สัตว์ถึงแก่ความตายได้มาก แต่ก็สามารถติดต่อในคนได้

การติดต่อ 

การติดต่อในคนที่พบบ่อยเป็นการติดเชื้อทางผิวหนัง ทางเดินอาหาร และที่ปอด เชื้อแอนแทรกซ์ พบได้ทั่วโลกทั้งเอมริกา ยุโรป อาฟริกา ตะวันออกกลางและเอเซีย 
โรคแอนแทรกซ์ เป็นในสัตว์ได้เกือบทุกชนิด แต่มักพบในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว ควาย ม้า ลา ฬ่อ แพะ แกะ สัตว์กินเนื้อและนกบางชนิดก็พบได้ โรคจะติดต่อมาสู่คนได้เมื่อสัมผัสสัตว์ที่เป็นโรค ซึ่งจะมีเชื้อโรคในทุกส่วนของสัตว์ ทั้ง ขน เนื้อ เลือดกระดูก ในคนจึงรับเชื้อ 3 ทางคือ การติดเชื้อผิวหนังที่เป็นแผล ทางระบบการหายใจ และระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อผิวหนังที่เป็นแผลเกิดจากไปสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่เป็นโรค ทางระบบหายใจพบได้น้อยในประเทศไทย มักจะพบในอุตสาหกรรม ขนสัตว์ หนังสัตว์ ซึ่งเชื้อในหนังและขน และกระจายไปในอากาศ เมื่อหายใจเข้าไปก็ติดเชื้อในปอดได้ ในส่วนนี้ เป็นการติดเชื้อที่กลัวกันมากว่าจะนำมาใช้ในสงคราม ส่วนการติดเชี้อในอาหารมักจากการทานเนื่อสัตว์ที่เป็นโรคโดยไม่ทำให้สุกก่อน

อาการ

อาการทางคลินิก
1. แอนแทรกซ์ที่ผิวหนัง เท่าที่มีในประเทศไทย มักจะได้ประวัติว่าไปแล่เนื้อวัวควายที่ตายเองโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากควายไม่ได้บอกอะไรเอาไว้ ต่อมาประมาณ 2-3 วันจะมีตุ่มแดงขึ้นตรงที่สัมผัส เช่นมือหรือนิ้วมือ ตุ่มจะคันแต่ไม่เจ็บ และในเวลา 12-48 ชั่วโมงต่อมา จะพองเป็นตุ่มน้ำใส และกลายเป็นตุ่มหนอง ตรงกลางจะแตกและแผลจะลึกกลมเหมือนเบ้าขนมครกมีขอบนูนชัด แผลจะกลายเป็นสีน้ำตาล ต่อมาจะกลายเป็นสีดำเหมือนถูกบุหรี่จี้ขอบแข็ง การที่แผลเป็นสีดำเหมือนถ่านหิน จึงได้ชื่อว่าแอนแทรกซ์ ซึ่งรากศัพท์ แปลว่าถ่านหินนั่นเองครับ ทั้งหมดจะเกิดประมาณวันที่ 5 หลังจากมีตุ่มแดง แผลอาจพบได้ที่นิ้ว บริเวณ ตา คอ แขน ขา ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ปวดหัว และอ่อนเพลีย ในรายที่รุนแรง การอักเสบจะลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง และเข้าสู่กระแสเลือด เกิดภาวะ ติดเชื้อในเลือด ช็อกและเสียชีวิตได้

2. แอนแทรกซ์ ที่ระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หายใจขัด กระสับกระส่าย เจ็บคอ เจ็บหน้าอก ลิ้นบวม หอบ เขียว ไอเป็นเลือด เกิดความดันโลหิตต่ำ ช็อค ถึงแก่กรรม การติดเชื้อทางหายใจจะรุนแรงและการดำเนินโรคจะเร็วกว่าแบบอื่น ดังนั้นต้องรีบรักษา จุดเด่นคืออาการเร็ว เจ็บหน้าอก ไอ เป็นเลือด

3. แอนแทรกซ์ ที่ระบบอาหาร มักจะมีประวัติกินแกงเนื้อ ยำเนื้อ และมาด้วยอาการปวดท้องฉับพลัน ท้องร่วงอย่างรุนแรง คล้ายกับอหิวาต์ อุจจาระอาจเป็นเลือดสดๆจำนวนมาก ทำให้มีอาการซีด ไข้สูง อาเจียน อ่อนเพลีย ถ้าอาการหนักมาก ก็อาจช็อค ถึงแก่กรรมได้

อาการแทรกซ้อนและการรักษา

อาการแทรกซ้อนอื่น อาจพบติดเชื้อในกระแสเลือด จะมีไข้สูง ช็อค อาจติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง จะมีอาการทางสมอง คือ ปวดหัว สับสน กระวนกระวาย เอะอะอาละวาด จนกระทั่งซึมหมดสติ
การวินิจฉัย โรคไม่ยากคือ ได้จากประวัติ สัมผัสสัตว์หรือได้รับจดหมายมีผงแป้งของจริงจากบิล ลาเดน หรือ ผู้ก่อการร้าย ตรวจร่างกายพบอาการดังกล่าว และตรวจพบเชื้อจากเสมหะ ผิวหนัง หรือเพาะเชื้อจากเลือด

สำหรับ การรักษา โชคดีที่รักษาไม่ยาก ยาที่ใช้ได้มีหลายตัวด้วยกันได้แก่ เพนนิซิลิน สเตรพโตมัยซิน เตตร้าไซคลิน อีรีย์โทรมัยซิน คลอแรมเฟนนิคอล ถ้าเป็นเพนนิซิลลิน ส่วนมากมักต้องให้ยาในรูปการฉีดเข้าเส้นเลือด เพราะรักษาไม่ยากจึงไม่น่ากลัว และลักษณะเชื้อชนิดแกรมบวก ก็มักจะไม่ดื้อยามาก แต่ก่อนที่ตายกัน เพราะยังไม่มีการพบยาทีรักษา แต่ตอนนี้มียาดีหลายอย่างมากมายครับ

การป้องกัน

การป้องกัน กระทำได้โดย ให้สุขศึกษาแก่ประชาชน ไม่ทานเนื้อสุกๆดิบ เช่น น้ำตก ลาบ การต้มเดือดประมาณ ครึ่งชั่วโมงจะทำลายสปอร์ได้หมด ถ้าสัตว์ตายโดยไม่ทราบสาเหตุต้องแจ้งเจ้าหน้าที่มาตรวจ ถ้าเปิดซองจดหมายพบแป้งให้แจ้งกระทรวงสาธารณสุข ถ้ารู้ปั๊บรักษาปุ๊บ ปลอดภัยแน่นอนครับ การฉีดวัคซีน อาจฉีดได้ในสัตว์ ส่วนในคนไม่แพร่หลายมักให้แก่ บุคคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ หรือในอนาคต อาจเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ ในรายทีสัมผัสโรคไปแล้ว ควรเฝ้าสังเกตุอาการประมาณ 7 วัน เพราะระยะฟักตัวของโรคไม่เกิน 7 วัน ถ้าพ้นนี้ไป สบายใจได้ ถ้าระหว่างนี้ป่วยก็รักษาทันครับ 

สรุป 

แอนแทรกซ์จึงเป็นโรคที่น่ารู้ แต่ไม่น่ากลัวสำหรับบ้านเรา และที่สำคัญที่สุด คือเราไม่เป็นศัตรูกับใคร ก็คงไม่มีใครมาแกล้งเรา หวังว่าคงจะได้รับความรู้กันเต็มที่นะครับ

โดย นท.นพ. จักรพงศ์ ไพบูลย์ อายุรแพทย์

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
20 January 2003

Copyright (c) 1998-2003, ThaiClinic.com. All Right Reserved.