Thaiclinic.com

Thaiclinic Logo bannermedbiblewelcomeclr.gif (19991 bytes)
Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspaceup.gif (292 bytes)Contact Me,Dr.OU

อะมีบ้ากินสมอง
parasite, amoeba , brain, medbible

 

อะมีบ้ากินสมองเป็นอย่างไร?

อะมีบ้าเป็นสิ่งมีชีวิตเซลเดียว ประเภทโปรโตซัว อะมีบ้ากินสมอง เป็นคำพูดที่พูดให้คนกลัว โดยความจริงแล้ว เป็นอะมีบ้าที่ทำให้เกิดอาการสมอง และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อที่เป็นสาเหตุเป็นอะมีบ้าจากจีนัส Naegleria (Naegleria fowleri) และ Acanthamoeba (Acanthamoeba culbertsoni, Acanthamoeba castllani) 

เชื้ออะมีบ้ากินสมองพบได้ที่ไหน? 

เชื้อทั้งสองชนิดเป็นอะมีบ้าที่อาศัยอยู่อย่างอิสระ (Free living) ขนาดประมาณ 7-20 ไมโครเมตร พบในธรรมชาติตามแหล่งน้ำทั่วไป ในน้ำที่ไหลช้า และในดินโคลน จะเจริญดีมาก ในอุณหภูมิสูง คือ 37 - 40  ํC จึงอาจพบได้ในน้ำพุร้อน และเมื่อเข้าสู่สมองคนจึงเจริญแพร่พันธุ์ได้ดี

เชื้อ Naegleria มีได้ 2 ระยะคือ 

  1. ระยะโทรโปซอยด์มีรูปร่างคล้ายทาก
  2. ระยะเป็นซีสต์มีรูปร่างกลม
  3. ระยะแฟลกเจลลา มีหางยื่นออกมา 

เชื้อ Acanthamoeba มี 2 ระยะคือ 

  1. ระยะโทรโปซอยด์
  2. ระยะซีสท์

โรคนี้มีรายงานพบได้ทั่วโลก พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2508 โดย Fowler และ Carter ประเทศออสเตรเลีย มีรายงานพบที่ต่างๆ เช่นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ เชคโกสโลวาเกีย สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม ฯลฯ 

ในประเทศไทย พบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 1 ราย ที่จังหวัดศรีสะเกษ ในพ.ศ. 2530 พบที่จังหวัดตราด 2 ราย และ เขตหนองแขม กรุงเทพ ฯ 1 ราย 

คนติดเชื้อได้อย่างไร?

เชื้อ Naegleria สามารถเข้าสู่สมองโดยการที่มีการสำลักน้ำหรือสูดหายใจไอละอองน้ำ ที่มีเชื้อปะปนอยู่ เข้าสู่ระบบประสาทในจมูก (Alfactory nerve) และเข้าสู่สมอง ส่วนเชื้อ Acantamoeba อาจเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ปอด เยื่อบุตา (จากการใส่คอนแท็คเลนส์ ที่ล้างด้วยน้ำเกลือที่ไม่สะอาด)และเชื้อเข้าสู่สมองโดยผ่านทางกระแสเลือด


ภาพแสดงการติดเชื้อ Naegleria Fowleri


ภาพแสดงการติดเชื้อ Acanthamoeba

โอกาสที่จะติดเชื้อ?

โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบ้าพบได้น้อยมาก เชื้อ Naegleria รายงานในปี 1995 ทั่วโลกพบประมาณ 175 ราย ส่วน Acanthamoeba พบผู้ที่มีสมองอักเสบประมาณ 160 ราย และพบผู้ที่มีเฉพาะผิวหนังอักเสบ (Keratitis)ประมาณ 600 ราย 

เชื้อ Acanthamoeba มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยพบในรูปแบบ การติดเชื้อที่ผิวหนัง ปอดอักเสบ การติดเชื้อที่ตา มากกว่าการติดเชื้อที่สมอง

อาการติดเชื้อในสมองเป็นอย่างไร?

ผู้ที่มีสมองอักเสบเนื่องจากเชื้อ Naegleria อาการจะเกิดเร็วโดยว่ามีไข้ ปวดหัว เริ่มแรกคล้ายอาการโรคหวัด ต่อมามีคอแข็ง สับสนและซึมลง ส่วนเชื้อ Acanthamoeba อาจไม่มีไข้ แต่มีอาการปวดหัว ซึมลง สับสน ตาพร่า แขนขาเป็นอัมพาต อาการจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่เป็นรวดเร็วเหมือนเชื้อ Naegleria การติดเชื้อในสมองของเชื้อทั้งสองชนิดมักจะรุนแรงและส่วนใหญ่จะเสียชีวิต

วินิจฉัยโรคได้อย่างไร

การวินิจฉัยที่ถูกต้องทำได้ยาก ในเชื้อ Negleria อาจวินิจฉัยโดยการตรวจพบ เชื้อในน้ำไขสันหลัง (ดังรูป) หรือทำการเพาะเชื้อในหนู ส่วนAcanthamoeba อาจไม่พบเชื้อในน้ำไขสันหลัง การเพาะเชื้อในหนู หรือตัดชิ้นเนื้อไปตรวจอาจพบเชื้อได้

รักษาอย่างไร?

สมองอักเสบจากเชื้อ Naegleria รักษาได้โดยการให้ยา Amphoteracin B ร่วมกับยา Miconazole และ Rifampicin ส่วนเชื้อ Acanthamoeba ไม่มียาที่รักษาได้ผลดี ยา 5-Fluorocytosine อาจใช้ได้ผลบ้างในบางสายพันธ์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งสองชนิดนี้ ส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาช้าจึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เสียชีวิต

ป้องกันได้หรือไม่? อย่างไร?

ควรหลีกเลี่ยงไม่ลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่สกปรก หรือในสระว่ายน้ำที่ไม่มั่นใจว่าสะอาดและใส่คลอรีนมากพอที่จะกำจัดเชื้อได้หรือไม่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงไม่ลงไปเล่นน้ำในขณะที่เป็นแผลที่ผิวหนัง ผู้ที่ใส่คอนแท็คเลนส์ควรล้างด้วยน้ำเกลือที่สะอาด ไม่ผสมน้ำเกลือเองเพื่อ มาใช้ล้างคอนแท็คเลนส์

น้ำในสระว่ายน้ำควรมีการตรวจสอบและใส่คลอรีนให้ได้ความเข้มข้นเกิน 1 ส่วนต่อล้านส่วน ที่กรองน้ำของสระว่ายน้ำจะต้องทำความสะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำยาเคมีและความร้อน แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีคนลงเล่นประจำ จะต้องมีการตรวจหาเชื้อเป็นระยะๆ

ควรจะตื่นกลัวกับโรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบ้าหรือไม่?

โรคนี้ถึงแม้ว่าจะมีอาการรุนแรงและมีอัตราตายสูงมาก แต่โรคนี้เกิดขึ้นน้อยมาก โอกาสที่เกิดน้อยมาก (ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลยังมีโอกาสถูกรางวัลสูงกว่าเกิดโรคนี้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่ควรตื่นตกตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ควรระมัดระวังไม่ลงไปว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่สกปรก สระว่ายน้ำควรเลือกสระที่สะอาดไว้ใจได้ การเล่นน้ำสงกรานต์ก็ไม่ควรสาดน้ำกันรุนแรง หรือใช้ฉีดน้ำใส่กัน เพราะอาจทำให้น้ำเข้าจมูกได้ 

อ้างอิง
1. นิภา จรูญเวสม์ และคณะ, โรคเขตร้อน พิมพ์ครั้งที่สอง. โครงการตำรา-ศิริราช, รายการที่ 169 (4-2534) : 27 -40
2. http://www.dpd.cdc.gov/DPDx/Default.htm
3. http://www.ruf.rice.edu/~bioslabs/studies/invertebrates/naegleria.html
4. http://www.gsbs.utmb.edu/microbook/ch081.htm


โดย พ.ญ. รุ่งทิพย์ วรรณวิมลสุข

Main PageWhat's NewMedical BibleClinic OnlineHealth ConferenceQuestion-MallThaiclinic Newsfoldspacebottom.gif (372 bytes)Contact Me,Dr.OU

This web is created and designed by หมออู๋
20 February 2001

Copyright (c) 1998-2001, ThaiClinic.com. All Right Reserved.