ThaiClinic.Com (http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl)
For MD. >> Doctor Room l ห้องพักแพทย์ >> บทเรียนเรื่องเกษียณ สำหรับคนที่ยังไม่เกษียณ
(Message started by: <<GOOD LIFE>> on 02/23/23 เวลา 12:28:08)

Title: บทเรียนเรื่องเกษียณ สำหรับคนที่ยังไม่เกษียณ
ส่งโดย <<GOOD LIFE>> on 02/23/23 เวลา 12:28:08
(จากเพจเขียนไว้ให้เธอ)
***********************

   สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) แถมเป็นช่วงที่วิทยาการทางการแพทย์ทำให้เราอายุยืนขึ้นมาก  คนรุ่นสี่สิบห้าสิบก็ต้องเริ่มคิดเรื่องนี้กันบ้างแล้ว  ส่วนใหญ่การคิดเรื่องเกษียณจะเป็นเรื่องการเงินซะเยอะว่าจะต้องเก็บเงินอย่างไรถึงจะพอเลี้ยงตัวได้เมื่อไม่ต้องทำงานแล้ว   แต่ไม่ค่อยมีใครคิดถึงชีวิตและการใช้ชีวิตหลังเกษียณให้มีความสุขที่สุด  เราถึงจะเห็นคนที่เกษียณแล้วไม่นานก็ป่วย แก่เร็วมาก และดูเป็นทุกข์อยู่ไม่น้อย  
การคิดว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้เกษียณอย่างมีความสุขจึงน่าสนใจเพราะด้วยอายุที่ยืนขึ้นขนาดนี้ อายุหลังเกษียณอาจจะเป็นหนึ่งในสามของชีวิตก็เป็นได้  แถมเดี๋ยวนี้การเกษียณตัวเองนั้นอาจจะไม่ใช่หกสิบอย่างที่คิด บางคนรับ early retire ตั้งแต่ห้าสิบห้าสิบห้า  หรือตัดสินใจมาใช้ชีวิตเกษียณเองตั้งแต่สี่สิบก็มี
..
    ผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในคนที่เจอสภาวะ “เกษียณ” ในตอนอายุสี่สิบกลางๆที่ริจะไม่ทำงานประจำแล้ว จะลอง slow life รับส่งลูก ใช้ชีวิตสบายๆบ้าง   ในช่วงนั้นผมเองก็ค้นพบอะไรหลายๆอย่างว่าการที่เกษียณแล้วไม่ทำอะไรเลยนั้น ช่วงแรกๆก็ดีอยู่ แต่ซักพักก็รู้สึกแก่เร็วและเบื่อเอามากๆ จนต้องพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่หลายแบบกว่าจะลงตัว   เลยพอเข้าใจถึงสภาวะที่พอคนเกษียณแล้วแป๊บๆก็แก่หรือป่วยเอาง่ายๆได้ว่าเป็นเพราะอะไร

   ผมได้ฟัง talk ของ ดอกเตอร์ ไรเล่ย์ มอยนส์ ( riley moynes ) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่เขียนหนังสือเรื่อง money coach  ที่อยู่ในวัยเกษียณและได้สังเกตและวิเคราะห์ถึงคนที่เกษียณไปแล้วจำนวนมากว่าจะมีแพทเทิร์นที่คล้ายๆกัน  จะมีคนเกษียณจำนวนไม่น้อยที่จะเป็นทุกข์ แต่ก็มีหลายคนที่สามารถใช้ “ชีวิต” ได้อย่างสนุกและมีความสุขสมวัย    ดร.ไรเล่ย์ เล่าว่าการเข้าสู่วัยเกษียณนั้นมี 4 ช่วง  ที่ทุกคนที่เลิกทำงานแล้วต้องเจอ

#ช่วงแรกเรียกว่าช่วง vacation   เป็นช่วงหลายเดือนหรือปีแรกของการหยุดทำงาน  อยากตื่นกี่โมงก็ได้ อยากทำอะไร ไปไหนมาไหนก็ได้ ไม่มีเจ้านายคอยตาม ไม่มีลูกน้องต้องรับผิดชอบให้ปวดหัว ไม่มีตารางเวลาที่กดทับมานานหลายสิบปี  เป็นช่วงที่ผ่อนคลาย เหมือนความฝันช่วงทำงานว่าการเกษียณไม่ต้องทำงานแล้วน่าจะเป็นแบบนี้นี่เอง  เป็นอิสระที่รอมานาน
พอใช้ชีวิตแบบนี้ไปซักพักก็จะเริ่มเบื่อ ตอนที่ผมออกจากงานประจำช่วงแรกๆก็เป็นแบบนั้นจริงๆ  อยากไปห้างเดินพารากอนเมื่อไหร่ก็ได้ ไปซื้อหนังสือ ซื้อของตามใจชอบ แต่ไปซักสามสี่ครั้งก็ไม่มีอะไรจะดู หนังสือที่ซื้อก็ยังไม่ได้อ่าน  เดินเบื่อๆซักพักก็กลับ  เริ่มรู้สึกชีวิตว่างเปล่าจะรู้สึกหลงทางและตั้งคำถามกับชีวิตเยอะมากว่าจะไปยังไงต่อดี ไม่อยากหายใจทิ้งแบบนี้เลย
ช่วงนี้เป็นช่วงที่สองเรียกว่าช่วงที่รู้สึก lost   ดร ไรเล่ย์ บอกว่าที่เรารู้สึกแบบนั้นเพราะเราสูญเสียความรู้สึกที่เคยมีไป 5 ประการก็คือ
 
-เราเสียรูทีนที่ทำอะไรซ้ำๆประจำไป  
-เราเสียอัตลักษณ์ (identity) ที่เคยมีในที่ทำงาน  
-เราเสียความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานไป  
-เสีย sense of purpose ว่าเคยมีเป้าหมายให้พุ่งชนมีปัญหาให้แก้ไข  
-และที่สำคัญโดยเฉพาะข้าราชการหรือผู้บริหารคือการเสีย “อำนาจ” ที่เคยมีไป

    การสูญเสียห้าประการนี้จะเริ่มค่อยๆเข้ามาหลังจากเราหมด honeymoon period แต่จะเริ่มรู้สึกรุนแรงเพราะมันหายไปทีเดียวห้าอย่างในชีวิต  เราจะเริ่มรู้สึกซึมเศร้า  ร่างกายก็จะทรุดลง  เริ่มหงุดหงิดกับคู่ชีวิตที่เจอกันทุกวัน   เริ่มรู้สึกกลัวกับความว่างเปล่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ  พอรู้สึกแย่มากๆ  หลายคนก็จะเริ่มฮึดสู้ ไม่อยากใช้ชีวิตแบบว่างเปล่าอย่างนั้น ก็จะเข้าสู่

#ช่วงที่สาม เป็นช่วงลองผิดลองถูก (trial and error)  พยายามจะหาความหมายให้ชีวิตอีกครั้งด้วยการลองทำอะไรที่คิดว่าทำได้ดี ซึ่งก็ไม่ง่ายนักเพราะสิ่งที่เราทำได้ดีก็อาจจะไม่ได้มีใครต้องการ  หรือไปลองอะไรใหม่ๆแต่ก็อาจต้องผิดหวังอีกหลายครั้ง   แต่ต้องสู้เพื่อหาอะไรที่ทำให้เราอยากตื่นเช้ามาทำให้ได้  เพราะถ้าหาไม่เจอเราก็จะวนอยู่ในช่วงที่สองอย่างทุกข์ทรมาน  
ไม่ใช่ทุกคนจะผ่านช่วงที่สามมาช่วงที่สี่ได้  แต่ถ้าใครมาถึงช่วงที่สี่ได้ก็จะเป็นกลุ่มคนที่มีความสุขที่สุดที่ ดร ไรเล่ย์ได้เจอ   ดร ไรเล่ย์สรุปว่า

#ช่วงที่สี่ก็คือช่วงที่เราสามารถ reinvent และ rewire ตัวเองได้  สามารถตอบคำถามได้ว่า purpose ใหม่ของตัวเองคืออะไร  และจากที่ ดร ไรเล่ย์ได้พูดคุย ซักถามคนที่ได้พบความสุขที่แท้จริงนั้น แทบทั้งหมดก็คือการที่ได้ดูแล ได้ช่วยเหลือคนอื่น (service to others)  ไม่ว่าจะเป็นงานการกุศล  การได้สอนหนังสือให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่  ฯลฯ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือแม่ของผมเอง ที่เดิมช่วงเริ่มเกษียณก็เป็นเหมือนที่ ดร ไรเล่ย์บอก  ได้เที่ยวได้ใช้ชีวิตซักพักก็เริ่มเบื่อ ในช่วงนั้นแม่ผมดูแก่เร็ว ไม่มีความสุขเลย  ลองทำอะไรหลายอย่างจนเมื่อสิบปีก่อนได้ไปทำงานให้ศาล ไปช่วยไกล่เกลี่ยช่วยเยาวชนที่หลงผิด  งานยุ่งมากๆจนแทบไม่มีเวลา แต่แม่ผมดูมีความสุขมาก  ร่างกายแข็งแรงขึ้น  ดูสาวสดใส จนตอนนี้หน้าเด็กจนจะเท่าผมอยู่แล้ว   แม่ผมโชคดีที่ได้ผ่านช่วงต่างๆมาถึงช่วงที่สี่ ได้ service to others เหมือนกับที่ ดร ไรเล่ย์บอกไว้ไม่มีผิด..  แม่ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มคนวัยเกษียณที่ได้ค้นพบ purpose ใหม่ได้ในที่สุด
………
บทเรียนสำหรับคนที่เตรียมตัวเกษียณนั้น ถ้าตามสี่ช่วงที่ ดร ไรเล่ย์บอก ก็คือสนุกกับอิสระกับ vacation ช่วงแรกให้เต็มที่ แล้วเตรียมรับมือกับความว่างเปล่าอย่างมีสติ  ก่อนที่จะทดลองอะไรใหม่ๆด้วยความสนุก  และหาทางเข้าสู่ช่วงที่สี่ พยายามทำตัวให้มีประโยชน์กับคนอื่นเพื่อที่จะมีความสุขได้สุดๆหลังเกษียณอย่างสมวัย

สำหรับคนที่ยังไม่ใกล้กับคำว่าเกษียณนั้น    ถ้าในที่สุดแล้ว ความสุขที่แท้จริงที่เหล่าคนเกษียณค้นพบก็คือการที่ได้ service to others   การที่ทำตัวมีประโยชน์กับคนอื่น    การที่ได้รู้ความลับนั้นก็น่าจะมีประโยชน์กับการใช้ชีวิตในตอนนี้ และน่าจะเป็นแต้มต่อที่ไม่ต้องรอให้เกษียณถึงจะเข้าถึงความสุขและสงบในใจนั้นได้ตั้งแต่วันนี้เลยนะครับ…..

Title: Re: บทเรียนเรื่องเกษียณ สำหรับคนที่ยังไม่เกษียณ
ส่งโดย luzeus on 05/26/23 เวลา 09:56:45
สุขแท้จริง คือ การทำตัวให้เป็นประโยชน์ กับคนอื่น



ThaiClinic.Com . All Rights Reserved.