ThaiClinic.Com (http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl)
For MD. >> Doctor Room l ห้องพักแพทย์ >> IOF รณรงค์ให้ผู้ใหญ่ตื่นตัวต่อปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
(Message started by: IQ on 10/20/20 เวลา 15:33:15)

Title: IOF รณรงค์ให้ผู้ใหญ่ตื่นตัวต่อปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
ส่งโดย IQ on 10/20/20 เวลา 15:33:15
มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ (IOF) รณรงค์ให้ผู้ใหญ่ทุกคนตื่นตัวต่อปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคที่อาจนำไปสู่วงจรกระดูกหักที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

ภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นจากการหกล้มเพียงเล็กน้อยในผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป มักเป็นสัญญาณของโรคกระดูกพรุน และเมื่อประสบกับภาวะกระดูกหักซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณข้อมือ กระดูกสันหลัง หรือสะโพก ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดภาวะกระดูกหักอีกภายในสองปีข้างหน้า

โรคกระดูกพรุนทำให้กระดูกอ่อนแอและเปราะบาง ผู้ป่วยจึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกหักที่ทำให้เจ็บปวดและอ่อนแรง ซึ่งบ่อยครั้งนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพในระยะยาวและการสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเอง โดยภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนอาจเกิดจากการหกล้มเพียงเล็กน้อยขณะยืน หรือเพียงแค่ก้มตัวยกถุงใส่ของ ทั้งนี้ ผู้หญิง 1 ใน 2 คน และผู้ชาย 1 ใน 5 คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปทั่วโลก จะได้รับผลกระทบจากภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจก่อให้เกิดภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ได้แก่ ความสูงที่หายไปมากกว่า 4 ซม. (ประมาณ 1.5 นิ้ว), การใช้ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ในระยะยาว (หรือ "สเตียรอยด์" เพื่อรักษาอาการอักเสบ), คนในครอบครัวมีประวัติกระดูกสะโพกหัก, การมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป, การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ประจำเดือนหมดเร็ว ฯลฯ

ดังนั้น IOF จึงรณรงค์ให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปทำแบบทดสอบความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน (รองรับ 36 ภาษา) ที่เว็บไซต์ https://riskcheck.osteoporosis.foundation และหากพบปัจจัยเสี่ยงก็ควรเข้ารับการประเมินสุขภาพกระดูก ซึ่งอาจรวมถึงการประเมินความเสี่ยงภาวะกระดูกหัก (FRAX) ในระยะ 10 ปี

ศาสตราจารย์ไซรัส คูเปอร์ ประธาน IOF กล่าวว่า

"เนื่องจากภาวะกระดูกหักมีอันตรายร้ายแรงและอาจเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยไปตลอดกาล โดยเฉพาะภาวะกระดูกหักที่สะโพกและกระดูกสันหลัง ผู้ใหญ่ทุกคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจึงจำเป็นต้องตื่นตัวต่อปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน การทดสอบและการรักษาอย่างทันท่วงทีมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการรักษาที่มีประสิทธิภาพสามารถลดความเสี่ยงภาวะกระดูกหักได้ 30-70%"

การจัดการโรคกระดูกพรุนตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถป้องกันความทุกข์ทรมานและการสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองได้ ทั้งนี้ หลังจากเกิดภาวะกระดูกสะโพกหัก ผู้ป่วยราว 40% ไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง ขณะที่ผู้ป่วย 60% ต้องการความช่วยเหลือ และ 33% อาจต้องพึ่งพาผู้อื่นเต็มตัวหรืออยู่ในสถานพยาบาลในปีถัดไปหลังจากกระดูกหัก

การพึ่งพาผู้อื่นเต็มตัวสร้างภาระหนักให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลซึ่งเป็นคนในครอบครัว โดยภาระนี้ตกอยู่กับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ผลการศึกษาจากสเปนพบว่า ผู้ดูแลผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก 77% เป็นผู้หญิง โดย 55% เป็นลูกสาวของผู้ป่วย

ศาสตราจารย์คูเปอร์กล่าวเสริมว่า

"โรคกระดูกพรุนมักถูกละเลย ทั้งที่เป็นภาระหนักของผู้ป่วยและครอบครัว แต่ราว 80% ของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงสุดและมีภาวะกระดูกหักอยู่แล้วกลับไม่ได้รับการรักษา ด้วยเหตุนี้ IOF จึงดำเนินโครงการ Capture the Fracture(R) เพื่อดูแลผู้ป่วยหลังเกิดภาวะกระดูกหักในโรงพยาบาลทั่วโลก ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าผู้ป่วยกระดูกหักได้รับการประเมินและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักเพิ่มเติมในอนาคต ผู้สูงวัยที่ประสบภาวะกระดูกหักทุกคนควรได้รับการดูแลในลักษณะนี้ เราขอเรียกร้องให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขให้ความสำคัญกับสุขภาพกระดูก และรับรองให้มีการดูแลหลังเกิดภาวะกระดูกหักอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับผู้สูงวัยทุกคนที่มีภาวะกระดูกหักต่อเนื่อง นี่คือกุญแจสำคัญในการลดภาระของภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ทั้งสำหรับผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมทั่วโลก"

- สามารถดูรูปภาพได้ที่ AP Images (http://www.apimages.com) -

วันสากลโรคกระดูกพรุน หรือ World Osteoporosis Day (WOD) ตรงกับวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี โดยมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อต่อสู้กับโรคกระดูกพรุน รวมทั้งภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนทั่วโลก
www.worldosteoporosisday.org

ผู้สนับสนุนวันสากลโรคกระดูกพรุน ได้แก่ Sunsweet, Sandoz, Amgen, UCB, GSK, Kyowa-Kirin

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ หรือ International Osteoporosis Foundation (IOF) คือองค์กรนอกภาครัฐขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่อุทิศตนเพื่อการป้องกันโรคกระดูกพรุนและภาวะกระดูกหัก
www.osteoporosis.foundation
www.capturethefracture.org

สื่อมวลชนกรุณาติดต่อ
Laura Misteli
อีเมล: info@iofbonehealth.org
โทร: +41-78-857-1777



ThaiClinic.Com . All Rights Reserved.