ThaiClinic.Com (http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl)
For MD. >> Doctor Room l ห้องพักแพทย์ >> ซิกน่าเผยผลสำรวจพบความเป็นอยู่ทางการเงินและสังคมลดลงในช่วงโควิด-19
(Message started by: IQ on 05/29/20 เวลา 14:10:14)

Title: ซิกน่าเผยผลสำรวจพบความเป็นอยู่ทางการเงินและสังคมลดลงในช่วงโควิด-19
ส่งโดย IQ on 05/29/20 เวลา 14:10:14
ซิกน่าเผยผลสำรวจพบความเป็นอยู่ทางการเงินและสังคมลดลงในช่วงวิกฤตโควิด-19

- รายงานศึกษาผลกระทบฉบับแรกบ่งชี้ว่าผู้คนมีระดับภาวะความเหงาลดลง
- คะแนนความเป็นอยู่หลายด้านยังคงทรงตัวนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน
- กิจวัตรในการทำงานอาจเปลี่ยนไปถาวร เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ยุติลง

อินเตอร์เนชันแนล มาร์เกตส์ในเครือบริษัทซิกน่าเผยแพร่รายงานการศึกษาผลกระทบทั่วโลกจากโรคโควิด-19 ของซิกน่าฉบับแรกในวันนี้ด้วยความร่วมมือกับบริษัทกันตาร์ (Kantar) โดยรายงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานสำรวจภาวะความเป็นอยู่แบบรอบด้าน (360 Well-Being Survey) ประจำปีของซิกน่า และเป็นฉบับแรกจากการศึกษาชุดใหม่ของซิกน่าเพื่อทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อภาวะความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก

รายงานสำรวจภาวะความเป็นอยู่แบบรอบด้าน (360 Well-Being Survey) ติดตามการรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ ซึ่งรวมถึงดัชนีที่ครอบคลุมความเป็นอยู่ทางกายภาพ, ครอบครัว, สังคม, การเงิน และการทำงานนับตั้งแต่ปี 2557 จากการสอบถามผู้ร่วมตอบแบบสำรวจจำนวน 10,204 คน ในจีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, สเปน, ไทย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด

ดัชนีบ่งชี้ภาวะความเป็นอยู่ยังทรงตัว

รายงานวิจัยใหม่ฉบับนี้บ่งชี้ว่า ภาวะความเป็นอยู่ตามการรับรู้ของเรานั้นปรับตัวรับได้อย่างน่าประหลาดใจ โดยดัชนีความเป็นอยู่ทั่วโลกในภาพรวมระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ยังทรงตัวอยู่ที่ 62.5 จุด แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคและมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่ดัชนีความเป็นอยู่ด้านการเงินและสังคมกลับลดต่ำลง โดยดัชนีด้านการเงินลดลง 1 จุด (จาก 55.8 สู่ 54.8) และด้านสังคมลดลง 0.8 จุด (จาก 63.2 มาอยู่ที่ 62.4) ส่วนดัชนีด้านการทำงานและครอบครัวยังคงที่ โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในบางส่วนที่สำคัญ

ดัชนีความเป็นอยู่ทางสังคมในสหราชอาณาจักรหดตัวลงมากสุดถึง 4.1 จุด ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของจำนวนผู้ที่รู้สึกว่า พวกเขามีเวลาเพียงพอในการพบปะเพื่อน (ลดลงจาก 31% เหลือ 17%), มีเวลาเพียงพอให้กับตัวเอง (จาก 43% เหลือ 34%) และรู้สึกว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโดยรวมที่นอกเหนือไปจากครอบครัว (จาก 25% เหลือเพียง 15%) ขณะที่ดัชนีความเป็นอยู่ด้านสังคมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กลับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลาย ๆ ด้าน แม้ต้องอยู่ภายใต้การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ จำนวนผู้ที่รู้สึกว่ามีเวลาเพียงพอให้กับตัวเองเพิ่มขึ้นจาก 40% มาเป็น 50% และผู้ที่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน (เพิ่มขึ้นจาก 34% เป็น 46%)

ดัชนีความเป็นอยู่ด้านการทำงานยังอยู่ในระดับทรงตัว (เพิ่มเพียงเล็กน้อยจาก 68.7 มาเป็น 69) โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมาจากคะแนนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนผู้ที่รู้สึกว่าได้รับการเรียนรู้และฝึกอบรมเพื่อการพัฒนา (เพิ่ม 4% จาก 54% มาเป็น 58%) ขณะที่ความสมดุลในด้านชีวิตการทำงานที่ดีก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (เพิ่ม 1% จาก 63% มาเป็น 64%) ส่วนดัชนีความเป็นอยู่ด้านครอบครัวยังคงอยู่ในระดับทรงตัวเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 66.3 มาเป็น 66.9 ทั้งนี้ สิงคโปร์และยูเออีเป็นประเทศที่มีดัชนีความเป็นอยู่ด้านครอบครัวเพิ่มขึ้นในระดับสูง (เพิ่ม 2.6 และ 2.9 จุดตามลำดับ) นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ผู้ตอบแบบสำรวจจากทั่วโลกมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องของความสามารถที่จะปกป้องความเป็นอยู่ของคู่สมรส (เพิ่มจาก 44% เป็น 47%) และของบุตร (เพิ่มขึ้น 3% จาก 48% เป็น 51%) รวมถึงมีความรู้สึกว่าได้ใช้เวลามากเพียงพอกับครอบครัว (เพิ่ม 2% จาก 43% เป็น 45%)

เจสัน แซดเลอร์ ประธานซิกน่า อินเตอร์เนชันแนล มาร์เกตส์ กล่าวว่า: "แม้จะมีความกังวลด้านการเงินเพิ่มสูงขึ้น ดังที่เห็นได้จากการพูดคุยกับลูกค้าและคู่ค้าของเรา แต่ก็น่าพอใจที่ได้เห็นว่า คะแนนสภาวะโดยรวมของเรายังคงทรงตัว ซึ่งสะท้อนถึงการปรับตัวรับสถานการณ์ของผู้คนที่เราได้เห็นมาในขณะกำลังพยายามมุ่งความสนใจไปที่มุมมองแง่บวกจากสถานการณ์ปัจจุบัน เราจะเผยแพร่รายงานศึกษาผลกระทบทั่วโลกจากโควิด-19 ฉบับที่สองเร็ว ๆ นี้ และผมก็กำลังเฝ้าดูว่า แนวโน้มดังกล่าวดำเนินต่อไปหรือไม่"

การทำงานที่บ้านเพิ่มความพึงพอใจในงาน , ความสัมพันธ์กับงาน และการสื่อสาร

แม้อาจต้องใช้เวลาไปกับการทำงานยาวนานขึ้น แต่ผู้คนก็ยังมองว่า การทำงานจากที่บ้านทำให้ชีวิตการทำงานของพวกเขาดีขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง 76% ระบุว่าวันทำงานของพวกเขามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทยมากถึง 90%, ในสเปน 80% และในยูเออี 79% ต่างก็ยอมรับในเรื่องดังกล่าว ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจวัตรการทำงานอาจจะเปลี่ยนไปถาวร เมื่อมาตรการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง

ผู้ตอบแบบสำรวจยังรู้สึกด้วยว่า พวกเขามีความใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นในขณะที่เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดย 64% เห็นด้วยว่า การทำงานจากบ้าน และการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสื่อสารนั้นช่วยปรับปรุงการเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงาน เมื่อเทียบกับ 9% ที่ระบุว่า ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ระดับความพึงพอใจสูงสุดอยู่ในตลาดเอเชีย ซึ่งมักพบว่ามีการทำงานที่ยืดหยุ่นน้อยกว่าเมื่อเทียกับยุโรปและอเมริกาเหนือ ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 79% ในยูเออี, 73% ในจีน, 68% ในไทย และ 65% ในสิงคโปร์ระบุว่า พวกเขาสามารถสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้นในช่วงวิกฤตนี้

ดร .พุยฮัน จอยซ์ เชา นักจิตวิทยาคลินิกจาก Dimensions Center ให้ความเห็นว่า:

"ผลการวิจัยฉบับนี้เป็นส่วนเสริมสำคัญที่มาเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อผู้คน การจัดการกับวิกฤตเป็นเรื่องส่วนบุคคลมาก ๆ และหลายคนก็ต้องเผชิญกับความวิตกกังวล ความสับสนในระดับสูง หรืออาจมีความรู้สึกหวาดกลัว โดยผลการวิจัยเบื้องต้นเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า การรับมือในช่วงเวลาวิกฤตเป็นเรื่องซับซ้อน ผู้คนจะเริ่มปรับตัวอย่างช้า ๆ และเมื่อการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เริ่มผ่อนคลายลง เราก็อาจได้เห็นระดับความวิตกกังวลพุ่งสูงขึ้น เพราะผู้คนจะมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องของการกลับไปทำงาน หรือบุตรหลานจะกลับไปเรียนอย่างไร"

ภาวะความเหงาลดลง

รายงานผลการศึกษาเรื่องผลกระทบฉบับแรกนี้พบว่า ผู้คนภาวะความเหงาลดต่ำลง โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 8% ที่ระบุว่า พวกเขารู้สึกห่างไกลจากคนอื่นในเดือนเมษายน เทียบกับ 11% ในเดือนมกราคม และเมื่อถามว่า พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับผู้อื่นมากขึ้นหรือไม่ 73% ตอบว่าใช่ในเดือนเมษายน เทียบกับ 69% ในเดือนมกราคม แม้หลายประเทศจะมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จ โดยระดับความใกล้ชิดในยูเออีดีขึ้นจาก 71% เป็น 80%, สหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจาก 70% เป็น 79% และสเปนเพิ่มขึ้นจาก 81% เป็น 91%

ชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้คนประสบปัญหาในการเลิกงาน

ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 79% ระบุว่า พวกเขาต้องเผชิญกับการทำงาน "ตลอดเวลา" และสิ่งนี้เพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเทศ โดยเพิ่มขึ้น 7% ในสหราชอาณาจักร (74%) และเพิ่มขึ้น 6% ในสิงคโปร์ (78%) และฮ่องกง (72%) นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจยังรู้สึกด้วยว่าวันทำงานของพวกเขามีเวลายาวนานขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง 59% ระบุว่า พวกเขาทำงานนานขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 18% ที่คิดว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น โดยเพิ่มขึ้นเป็น 75% ในไทย, 65% ในยูเออี และ 64% ในจีน

ดร .ดอว์น ซู ผู้อำนวยการ ฝ่ายธุรกิจด้านสุขภาพของซิกน่า อินเตอร์เนชันแนล มาร์เกตส์ เสริมว่า: "คะแนนด้านภาวะความเหงาที่ลดลงนั้นเป็นเรื่องคาดไม่ถึง แต่ก็แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ด้านบวกจากเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้ เรายังพบอีกว่า ทัศนคติต่อการทำงานกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้คนรู้สึกว่า การทำงานจากที่บ้านให้ผลด้านบวกหลายข้อ โดยเฉพาะในแง่ของการทำให้ความรับผิดชอบต่อครอบครัวและต่องานมีความสมดุล แม้จะมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานขึ้นก็ตาม"

ความต้องการ ด้านบริการสุขภาพเสมือนจริงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความต้องการในเรื่องของบริการด้านสุขภาพเสมือนจริง (virtual health) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง 60% ระบุว่า พวกเขาสนใจใช้บริการดังกล่าว ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 73% ในยูเออี, 72% ในจีน และ 67% ในไทย สำหรับการใช้บริการสุขภาพเสมือนจริงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือ การดำเนินการนัดหมายเพื่อพบแพทย์ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 52% ระบุว่า พวกเขาจะใช้อี-เฮลธ์ในการทำการนัดหมายในอนาคต โดยเพิ่มขึ้นเป็น 65% ในสเปน และอีก 39% ระบุว่า พวกเขาจะเลือกใช้บริการสุขภาพเสมือนจริงเพื่อการดูแลสุขภาพจิตในอนาคต ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 53% ในไทย และ 51% ในจีน

ดร .ซูกล่าวต่อไปว่า: "ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จำนวนการนัดหมายผ่านบริการสุขภาพเสมือนจริงที่ลูกค้าของเราเข้ามาใช้นั้นเพิ่มขึ้น 6 เท่า จาก 233 รายในเดือนมกราคม มาเป็น 1,438 ในเดือนเมษายน และเราก็เชื่อว่า นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถาวร เราจึงลงทุนในโซลูชันด้านสุขภาพแบบครบวงจรตัวใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนจัดการสุขภาพทั้งกายและใจ และให้การรักษาในเวลาและสถานที่ที่ต้องการได้"

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยใช้แบบสำรวจทางออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสำรวจได้รับคัดเลือกมาจากฐานสมาชิกผู้ตอบแบบสำรวจออนไลน์ และผ่านการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด ขณะที่อายุ วัย และโควต้าเมืองที่อาศัยถูกกำหนดโดยใช้สัดส่วนประชากรของตลาดที่เกี่ยวข้อง การสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 10 มกราคมถึง 24 กุมภาพันธ์ และวันที่ 22-27 เมษายน โดยมีการสัมภาษณ์ทางออนไลน์ 8,983 คนในเดือนมกราคม และ 1,221 คนในเดือนเมษายน ใน 8 ประเทศ และแบบสำรวจใช้เวลาทำ 20-25 นาทีโดยไม่มีการเปิดเผยชื่อ

เกี่ยวกับ ซิกน่า

ซิกน่า คอร์ปอเรชั่นเป็นบริษัทด้านบริการสุขภาพระดับโลกที่มีความมุ่งมั่นต่อการปรับปรุงสุขภาพ, ความเป็นอยู่ และความสงบทางใจของผู้ที่เราให้บริการ ซิกน่าส่งมอบทางเลือก, การคาดคะเน, ความสามารถในการใช้จ่าย และการเข้าถึงการดูแลที่มีคุณภาพ ด้วยความสามารถที่ครอบคลุมและโซลูชันที่มีความเชื่อมโยงและออกแบบมาเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคลเพื่อมอบสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดของบริษัทได้รับการจัดหาให้แต่เพียงผู้เดียวผ่านทางบริษัทลูกของซิกน่า คอร์ปอเรชั่น รวมถึง Cigna Health and Life Insurance Company, Cigna Life Insurance Company of New York, Connecticut General Life Insurance Company,  Express Scripts หรือบริษัทในเครือ และ Life Insurance Company of North America ผลิตภัณฑ์และบริการดังกล่าวครอบคลุมถึงบริการครบวงจรด้านสุขภาพ เช่น การแพทย์ ทันตกรรม พฤติกรรมสุขภาพ เภสัชกรรม สวัสดิการ การดูแลรักษาสายตา และบริการเสริมอื่นๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การคุ้มครองเป็นกลุ่มสำหรับภาวะทุพพลภาพ ชีวิต และอุบัติเหตุ ซิกน่ามีทีมงานด้านการขายอยู่ในกว่า 30 ประเทศและเขตแดน และมีลูกค้าที่เราให้บริการอยู่ประมาณ 170 ล้านรายทั่วโลก สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซิกน่า Cigna(R)  ได้ที่ www.cigna.com และติดตามเราได้ทางเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์

โลโก้ - https://photos.prnasia.com/prnh/20200527/2814385-1LOGO



ThaiClinic.Com . All Rights Reserved.