ThaiClinic.Com (http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl)
For MD. >> Doctor Room l ห้องพักแพทย์ >> เมอร์ค ลงนามข้อตกลงผลิต Viral Vector ให้  บลูเบิร์ด ไบโอ
(Message started by: IQ on 12/21/17 เวลา 09:52:46)

Title: เมอร์ค ลงนามข้อตกลงผลิต Viral Vector ให้  บลูเบิร์ด ไบโอ
ส่งโดย IQ on 12/21/17 เวลา 09:52:46
- มุ่งขับเคลื่อนการผลิตยารักษารูปแบบใหม่เพื่อให้ครอบคลุมโรคร้ายแรงต่างๆ

         - ตอกย้ำสถานะของธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ของเมอร์ค ในฐานะผู้ผลิตตามสัญญาจ้างและผู้จัดหา Viral Vector เพื่อการพาณิชย์สำหรับทำยีนบำบัดชั้นนำของวงการ

         เมอร์ค ( Merck ) บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ ได้ลงนามข้อตกลงผลิต Viral Vector (พาหะที่เป็นไวรัส) เพื่อการพาณิชย์ให้แก่บริษัท บลูเบิร์ด ไบโอ (bluebird bio, Inc.) จากเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เพื่อนำไปใช้ในการทำยีนบำบัดรูปแบบใหม่

         รูปภาพ: http://mma.prnewswire.com/media/620926/Merck_bluebird.jpg

         อูดิท บาทรา สมาชิกคณะกรรมการบริหารของเมอร์ค และซีอีโอกลุ่มธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) กล่าวว่า "เราตั้งตารอที่จะร่วมมือกับ บลูเบิร์ด ไบโอ ในการคิดค้นวิธีรักษาใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับโรคที่มีทางเลือกในการรักษาจำกัดหรือไม่มีทางเลือกเลย เรามีประสบการณ์ยาวนาน 30 ปีในการผลิต Viral Vector และเรายังคงอุทิศตนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ร่วมกับสถาบันวิชาการ โรงพยาบาล และผู้ผลิตเซลล์บำบัด เพื่อผลักดันให้ผู้ป่วยที่มีความต้องการมากที่สุดได้เข้าถึงการรักษาด้วยเซลล์บำบัด"

         ภายใต้ข้อตกลงระยะเวลาหลายปี ธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ของเมอร์คจะผลิต Lentiviral Vector ให้แก่บลูเบิร์ด ไบโอ เพื่อนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ยาที่พัฒนาขึ้นเพื่อรักษาโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยากหลายโรค ทั้งนี้ บลูเบิร์ด ไบโอ เป็นบริษัทการแพทย์ที่พัฒนายีนบำบัดและเซลล์บำบัดสำหรับรักษาโรคทางพันธุกรรมร้ายแรง รวมถึงภูมิคุ้มกันบำบัดโดยใช้ทีเซลล์สำหรับรักษาโรคมะเร็ง

         ยีนบำบัดคือการส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์ของผู้ป่วยเพื่อก่อให้เกิดปฏิกิริยาการรักษา เช่น การแก้ไขยีนกลายพันธุ์ หรือการเปลี่ยนเป้าหมายของเซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง ยีนเหล่านี้ถูกส่งเข้าไปในเซลล์ภูมิคุ้มกันโดยใช้ Viral Vector แบบที่เมอร์คผลิตนั่นเอง

         ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วยประสบการณ์ที่หยั่งลึกของเมอร์คในด้านการผลิต Viral Vector สำหรับทำยีนบำบัด ตั้งแต่ระดับห้องทดลองจนถึงการผลิตเพื่อการพาณิชย์ โดยเมอร์คข้องเกี่ยวกับเครื่องมือและบริการด้านยีนบำบัดและเซลล์บำบัดมานานเกือบ 3 ทศวรรษแล้ว

         โรงงานผลิตของเมอร์คซึ่งตั้งอยู่ในเมืองคาร์ลสแบด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งให้บริการผลิตไวรัสบำบัดและยีนบำบัด BioReliance(R) นั้น มีส่วนในแวดวงยีนบำบัดมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เริ่มมีการทดลองยีนบำบัดในห้องปฏิบัติการ ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2560 โรงงานแห่งนี้ได้ผ่านการตรวจสอบ Pre-License ขององค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) และการตรวจสอบ Marketing Authorization ขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA)

         การลงทุนด้านยีนบำบัดของเมอร์คครอบคลุมถึงการขยายโรงงานในเมืองคาร์ลสแบดให้มีกำลังการผลิตมากขึ้นจากเดิมเกือบสองเท่า จากพื้นที่ 44,000 ตารางฟุต เป็น 65,000 ตารางฟุต ประกอบด้วยห้องปลอดเชื้อสำหรับผลิต Viral Vector จำนวน 16 ห้อง พร้อมอุปกรณ์แบบใช้ครั้งเดียว รวมถึงห้องบรรจุยาสำหรับยีนบำบัด วัคซีนไวรัส และผลิตภัณฑ์ภูมิคุ้มกันบำบัด 2 ห้อง

         นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงงานผลิตไวรัสบำบัดและยีนบำบัด รวมถึงธนาคารเซลล์ในเมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ทั้งยังมีธนาคารเซลล์ในเมืองร็อควิลล์ รัฐแมรีแลนด์ ตลอดจนให้บริการทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ BioReliance(R) ทั่วโลก เพื่อรองรับการผลิตยีนบำบัดทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและพาณิชย์

         ข่าวประชาสัมพันธ์ทั้งหมดของเมอร์คได้รับการเผยแพร่ผ่านทางอีเมลในเวลาเดียวกับที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของเมอร์ค กรุณาเข้าไปที่ www.merckgroup.com/subscribe เพื่อลงทะเบียนออนไลน์ เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกบริการนี้

         เกี่ยวกับเมอร์ค

         เมอร์ค คือบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำในด้านการดูแลสุขภาพ ชีววิทยาศาสตร์ และเพอร์ฟอร์แม้นซ์ แมททิเรียล พนักงานราว 50,000 คนของบริษัทได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยปรับปรุงและยกระดับคุณภาพชีวิต ตั้งแต่ยาชีวภาพเพื่อรักษาโรคมะเร็งหรือโรคปลอกประสาทอักเสบ ระบบที่ทันสมัยสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการผลิต ไปจนถึง liquid crystal ที่ใช้กับสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์ LCD ทั้งนี้ ในปี 2559 เมอร์คทำยอดขายได้ 1.5 หมื่นล้านยูโร ใน 66 ประเทศ

         เมอร์ค เป็นบริษัทเภสัชภัณฑ์และเคมีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2211 และปัจจุบันครอบครัวผู้ก่อตั้งยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมอร์คครอบครองสิทธิ์ในชื่อและแบรนด์ "เมอร์ค" ทั่วโลก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจในชื่อ อีเอ็มดี โซโรโน่, มิลลิพอร์ซิกม่า และอีเอ็มดี เพอร์ฟอร์แม้นซ์ แมททิเรียล



ThaiClinic.Com . All Rights Reserved.